การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ :
กรณีการทำเหมืองแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี 
 กลุ่มวิชาการและมาตรฐาน 
 สำนักบริหารและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 
แผ่นเก็บประจุไฟฟ้าในแบตเตอรี่รถยนต์ มีส่วนประกอบที่สำคัญคือตะกั่ว ร้อยละ 90 ของ โลหะตะกั่วที่ผลิตได้ในประเทศถูกใช้ไปเพื่อการดังกล่าว ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าโลหะตะกั่วจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 70 ถึงแม้ว่าเราจะสามารถผลิตโลหะตะกั่วได้เอง ทั้งจากการรีไซเคิลแบตเตอรี่เก่า และจากการถลุงสินแร่ตะกั่ว
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การผลิตโลหะตะกั่วในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ คือ ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากในปัจจุบันแหล่งแร่ตะกั่วซึ่งเป็นแหล่งเดียวและใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่สำรวจแล้วพบว่ามีปริมาณแร่สำรองประมาณ 7.7 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 77 ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติลำคลองงู อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ดังภาพแสดงพื้นที่แหล่งศักยภาพแร่

 
กอปรด้วยที่ผ่านมาการทำเหมืองแร่ตะกั่วและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ปัญหาการปนเปื้อนและแพร่กระจายของตะกอนห่างแร่ตะกั่วในลำห้วยธรรมชาติ และผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น จนก่อให้เกิดกระแสต่อต้านการดำเนินกิจกรรมเหมืองแร่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2541
จากกระแสความต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความต้องการใช้ทรัพยากรแร่ตะกั่วเป็นฐานรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI : Thailand Development Research Institute Foundation) ดำเนินโครงการจัดทำแผนแม่บททางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมือง เพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีในเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ในปีงบประมาณ 2545
วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินโครงการ คือ เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการทำเหมืองแร่ตะกั่ว ในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยการประเมินมูลค่า สิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจกรรมเหมืองแร่และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เปรียบเทียบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากการพัฒนากิจกรรมเหมืองแร่ตะกั่ว

 
ในส่วนแรกของผลการศึกษาพบว่า สาเหตุการปนเปื้อนของตะกั่วซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ ธรรมชาติของพื้นที่ที่มีแร่ตะกั่วเกิดปะปนกับดินและหินสูงผิดปกติ และกิจการทำเหมืองและแต่งแร่ตะกั่วในบริเวณดังกล่าว ( ภาพโรงแต่งแร่ตะกั่ว )
จากการตรวจวัดระดับการปนเปื้อนของตะกั่วในสิ่งแวดล้อมบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่างซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่กระจายของตะกอนหางแร่จากโรงแต่งแร่ พบว่าในปี 2541-2543 น้ำห้วย ตะกอนธารน้ำ และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ รวมทั้งพืชบางชนิดมีปริมาณตะกั่วปนเปื้อนสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย
อย่างไรก็ดีในปัจจุบันคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมโดยรวมได้รับการฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพตามธรรมชาติของพื้นที่ ทั้งนี้โรงแต่งแร่ที่เป็นสาเหตุของการปนเปื้อนถูกให้หยุดดำเนินการตั้งแต่เกิดเหตุทำนบบ่อกักเก็บหางแร่พังทลายในปี 2541 และไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตให้ประกอบกิจการอีกเลย ( ภาพลำหัวยคลิตี้)
 
จากข้อมูลล่าสุดในปี 2545 ผลการตรวจวัดระดับตะกั่วในเลือดของประชาชนในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง และหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำห้วยคลิตี้ หรือไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่ ทำเหมืองและแต่งแร่ แต่จัดเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับตะกั่วจากสิ่งแวดล้อม อีก 6 หมู่บ้าน พบว่าระดับตะกั่วในกลุ่มเด็กจากหมู่บ้านคลิตี้ล่างมีแนวโน้มลดลงจนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (25 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร) แต่มีเด็กบางส่วนจาก 4 หมู่บ้าน มีระดับตะกั่วในเลือดเกินค่ามาตรฐาน ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่มีเพียงคนเดียวที่มีระดับตะกั่วในเลือดเกินมาตรฐาน (40 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร)
สำหรับการประเมินมูลค่าสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นต้นทุนในการวิเคราะห์ความคุ้มค่า กระทำโดยการประเมินความเสียหายด้านสุขภาพที่เป็นผลมาจากการทำเหมืองและแต่งแร่ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงถึงทัศนคติภายหลังการรับทราบปัญหาที่เกิดจากตะกั่วตามแบบสอบถามความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness-To-Pay) แล้วนำมารวมกับต้นทุนด้านการอพยพ ซึ่งใช้อัตราค่าชดเชยจากกรณีโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และต้นทุนด้านป่าไม้ ซึ่งได้จากการประเมินจากมูลค่าเนื้อไม้ โดยมิได้นำความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้มาร่วมด้วย เนื่องจากการทำเหมืองในบริเวณนี้เป็นการทำเหมืองแบบอุโมงค์ซึ่งใช้พื้นที่ผิวดินน้อย จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าหรือพันธุ์พืชอย่างมีนัยสำคัญ ( ภาพปากอุโมงค์เหมืองแร่ตะกั่ว )
 
ผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมแร่ตะกั่ว ระบุว่าการทำเหมืองบริเวณศักยภาพแร่กลุ่มสองท่อ-บ่อใหญ่-บ่อน้อย มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ในกรณีที่ไม่ต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ สำหรับการทำเหมืองบริเวณศักยภาพแร่กลุ่มบ่องาม พบว่าไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เห็นควรชะลอการทำเหมืองแร่ไปก่อนจนกว่าราคาแร่ตะกั่วจะสูงขึ้น หรือมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ใช้ต้นทุนต่ำลง
ทั้งนี้ ท้ายที่สุดโครงการได้มีข้อเสนอแนะให้กันเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วทั้ง 2 บริเวณข้างต้น เป็นเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งมีแร่ตะกั่วเกิดปะปนอยู่อย่างสมบูรณ์ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและ เฝ้าระวังสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแหล่งแร่ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับตะกั่วจากธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป