มารู้จักกับจอว์ครัชเชอร์ 
 นายชาตินัย ชูสาย 
 กลุ่มแต่งแร่และใช้ประโยชน์แร่ สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน 
มารู้จักกับจอว์ครัชเชอร์ (โดยนายชาตินัย ชูสาย)
(ที่มา : N.L.Weiss “SME Mineral Processing Handbook” 1 page 3B2-3B27,1985)

จอว์ครัชเชอร์ ถูกคิดค้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 1830 และได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายในการบดย่อยหินในอุตสาหกรรมในปี ค.ศ. 1858 โดย Eli Whitney Blake ซึ่งเรียกว่า Blake crusher และตลอด 150 ปีที่ผ่านมา จอว์ครัชเชอร์ก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะอุปกรณ์บดย่อยหินขั้นต้น
องค์ประกอบของจอว์ครัชเชอร์ : มีมี 4 ชิ้นส่วนที่สำคัญคือ
1. โครง เป็นชิ้นส่วนหลักในการยึดส่วนประกอบต่าง ๆ ให้เกิดเป็นรูปร่างของจอว์ครัชเชอร์ เช่นเดียวกับที่โครงกระดูกมนุษย์ทำหน้าที่สร้างรูปแบบโครงสร้างมนุษย์ โดยทั่วไปจะทำจากเหล็กหล่อเหนียวที่มีการผสมวัสดุเสริมแรงให้ชิ้นส่วนนี้มีความมั่นคงแข็งแรงเพราะไม่เพียงแต่ต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวมันเอง แต่ยังต้องรับน้ำหนักหินที่จะถูกบดย่อยอีกด้วย
2. ห้องบด ประกอบด้วยฟันจอว์ครัชเชอร์ทั้งสองข้างคือแผ่นตรึง และแผ่นเคี้ยว รวมทั้งผนังทั้งสองข้าง มีหน้าที่บดย่อยหินโดยตรงและเป็นชิ้นส่วนที่จะมีการสึกหรอสูงมากเนื่องจากต้องบดย่อยหินโดยตรงจึงถูกขัดสีจากความคมของหิน โดยทั่วไปแผ่นเคี้ยวจะมีความเอียงจากแนวตั้งประมาณ 27 องศา และมีอัตราการลดขนาดประมาณ 8:1 (หินขนาด 8 นิ้วจะถูกบดย่อยให้มีขนาดเล็กสุดได้ 1 นิ้ว)
3. ฟันจอว์ เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการบดย่อยหิน ซึ่งต้องขัดสีและบดอัดหินอย่างรุนแรงทำให้มีการสึกหรอสูงสุด โดยทั่วไปจากทำจากเหล็กหล่อผสมแมงกานีส มีการออกแบบรูปทรงที่หลากหลายเพื่อให้มีพื้นที่ในการทำงานบดย่อยหินที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีการกัดร่องเพื่อให้มีแรงกระแทกแบบ point break จนสามารถเคี้ยวหินให้แตกได้
4. ส่วนกลไก : เป็นชิ้นส่วนหลักในการขับเคลื่อนจอว์ครัชเชอร์ให้สามารถบดเคี้ยวหินได้มีองค์ประกอบย่อยดังนี้
- pitman สร้างจากเหล็กหล่อเหนียว มีหน้าที่จับยึดแผ่นเคี้ยวและสร้างสมดุลในการเคลื่อนที่ขณะที่แผ่นเคี้ยวเกิดการเคลื่อนที่จนสามารถบดย่อยหินได้
- toggle เป็นอีกชิ้นส่วนสำคัญที่มีหน้าที่ส่งถ่ายแรงจาก pulley ไปยังแผ่นเคี้ยว โดยเปลี่ยนการเคลื่อนที่เชิงมุมของ pulley เป็นการเคลื่อนที่เชิงเส้นให้ปากจอว์ครัชเชอร์เคลื่อนที่เข้าไปอัดกระแทกหิน
- แท่งตรึง เป็นแท่งเหล็กที่ยึดอยู่กับสปริงด้านล่างของจอว์ครัชเชอร์ มีหน้าที่บังคับเส้นทางการเคลื่อนที่ของจอว์ครัชเชอร์ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในการบดย่อยหิน เมื่อจอว์ครัชเชอร์เคลื่อนที่ไปข้างหน้าสปริงจะยืดและดึงแท่งตรึงกลับหลังทำให้ปากจอว์ครัชเชอร์เคลื่อนที่กลับมาที่ตำแหน่งเดิมก่อนที่จะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอีกครั้งด้วยการดันของ toggle
- ล้อหมุน ทำหน้าที่เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนจอว์ครัชเชอร์ให้เคลื่อนที่โดยมีการเคลื่อนที่เป็นวงกลมเชิงมุมและส่งแรงไปให้ toggle เปลี่ยนการเคลื่อนที่เป็นเชิงเส้นเพื่อผลักดันให้จอว์ครัชเชอร์เคลื่อนที่
- ระบบหล่อลื่น เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ทำให้จอว์ครัชเชอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เกิดการพังหรือสึกหรอเร็วจนเกินไปเพราะทำหน้าที่เป็นวัสดุรองรับการเสียดสีและลดความร้อนระหว่างชิ้นส่วนภายในที่มีการเคลื่อนที่
 
รูปแสดงส่วนประกอบต่าง ๆ ของจอว์ครัชเชอร์
(ที่มา : N.L.Weiss “SME Mineral Processing Handbook” 1 page 3B3,1985)




การเลือกจอว์ครัชเชอร์ให้เหมาะสม
ในการเลือกจอว์ครัชเชอร์ต้องคำนึงถึงชนิดแร่ที่นำมาบดว่ามีความแข็งเท่าไร เพื่อสามารถเลือกวัสดุเคลือบผิวฟันจอว์ครัชเชอร์ได้ถูกต้อง ต้องการลดขนาดในอัตราส่วนแค่ไหน มีปริมาณการผลิตต่อชั่วโมงในปริทาณเท่าใด ใช้แรงม้าและความเร็วรอบเหมาะสมหรือไม่ จึงจะสามารถเลือกขนาดจอว์ครัชเชอร์ที่ต้องการได้ถูกต้องจากตาราง