ยิปซัม 
 กลุ่มวิศวกรรมและความปลอดภัย 
 สำนักเหมืองแร่และสัมปทาน 
 1. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแร่ยิปซัม 
ยิปซัม หรือแร่เกลือจืด คือแคลเซียมซัลเฟตซึ่งมีน้ำรวมอยู่ด้วย (dihydrate) สูตรเคมีของแร่ยิปซัมคือ CaSO4.2H2O โดยประกอบด้วยซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ (SO3) 46.5% แคลเซียมออกไซด์ (CaO) 32.6% และน้ำ (H2O) 20.9% แต่ในเชิงพาณิชย์จะต้องมีไฮดรัสแคลเซียมซัลเฟตประมาณ 95% 
คุณสมบัติทั่วไปของแร่ยิปซัม สามารถละลายได้ในกรดเกลือโดยไม่เกิดฟองฟู่ ลักษณะเด่นของแร่คือมีความแข็งเพียง 2 ตามมาตราความแข็งของโมห์ (Mohs’ scale of hardness) จึงสามารถใช้เล็บมือขีดเป็นรอยได้ ความถ่วงจำเพาะประมาณ 2.2-2.4 โดยปกติแร่จะใสหรือมีสีขาว แต่อาจจะมีสีอื่นได้ตามชนิดและปริมาณของมลทินที่ปนอยู่ แร่ยิปซัมมีหลายรูปแบบแต่ที่พบโดยทั่วไปมักพบเป็นแบบเนื้อแน่น มีรูปผลึกเฉพาะ เช่น เป็นผลึกใส เป็นแผ่นบางโปร่งใส เรียกว่า เซเลไนต์ (Selenite) ส่วนยิปซัมที่พบเป็นมวลอัดแน่น เรียกว่า อะลาบาสเตอร์ (Alabaster) และชนิดเป็นเส้นใยเรียกว่า ซาทินสปาร์ (Satinspar) 
แร่อีกชนิดหนึ่งคือ แร่แอนไฮไดรต์ (Anhydrite) คือ แคลเซียมซัลเฟตซึ่งไม่มีน้ำ มีสูตรเคมีคือ CaSO4 ประกอบด้วย SO3 58.8% และ CaO 41.2% เนื่องจากไม่มีน้ำจึงทำให้แร่แอนไฮไดรต์หนักกว่า และมีความแข็งมากกว่า โดยมีความถ่วงจำเพาะประมาณ 2.7-3.0 มีความแข็งประมาณ 3-3.5 และไม่ฟู่กรดเช่นเดียวกับแร่ยิปซัม 
ยิปซัมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจัดอยู่ในกลุ่มของ แร่อีแวพอไรต์ (Evaporite) ซึ่งเป็นกลุ่มแร่ที่ตกผลึกจากน้ำทะเล (brine) โดยเกิดสะสมตัวในแอ่งระเหยขนาดใหญ่ (Evaporite basin) บริเวณชายฝั่งทะเลในเขตภูมิอากาศแห้งแล้ง หรือในทะเลสาบชายทะเล (Lagoonal basin) ซึ่งจากสภาวะแวดล้อมดังกล่าวนี้เมื่อน้ำทะเลเกิดการะเหยออกไปจากแหล่งสะสมตัวเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำที่เหลือมีความเข้มข้นสูงสุดขึ้นจนถึงจุดที่แร่กลุ่มนี้สามารถตกผลึกออกมาได้  
 2. การผลิต การใช้ประโยชน์ 
ยิปซัมดิบ (Raw gypsum) 
1. ยิปซัมส่วนใหญ่จะใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตปูนซิเมนต์ ยิปซัมจะถูกเติมลงไปในปูนเม็ด (clinker) ประมาณ 3 – 5% ของน้ำหนักปูน ก่อนจะนำไปบดและบรรจุถุง หน้าที่ของยิปซัมคือเป็นตัวหน่วง (Retarder) เพื่อชะลอการแข็งตัวของปูนซิเมนต์ และทำให้ปูนจับตัวกับวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เช่น กรวด ทราย ได้ดี มีกำลังอัดสูง
             2. ใช้ผลิตกรดกำมะถัน แอมโมเนียซัลเฟต
             3. ใช้เป็นตัวเพิ่มออกซิเจน (oxidizing agent) ในอุตสาหกรรมเครื่องแก้ว
             4. ใช้ผลิตชอล์ก ดินสอสี และหัวไม้ขีดไฟ
             5. ยิปซัมที่มีความบริสุทธิ์สูง สามารถนำไปใช้ในการทำรูปแกะสลัก และใช้ในการตกแต่งภายใน
             6. ใช้ในงานด้านทันตกรรม
             7. ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ โดยทำให้กระบวนการหมักเบียร์เป็นไปอย่างดีเลิศ และเบียร์ที่ได้มีความใส
             8. ใช้เป็นตัวปรับคุณภาพดินเพื่อการเกษตรกรรม โดยการบดยิปซัมแล้วโปรยลงดินโดยตรง หรือนำไปผสมในน้ำที่ใช้รดแปลงเพาะปลูก แคลเซียมจากยิปซัมสามารถเข้าแทนที่อนุมูลของโซเดียมในดิน ทำให้ความเค็มลดลง สามารถนำกลับไปใช้เพาะปลูกได้ 
 3. แหล่งแร่และปริมาณสำรอง 
จากการทำเหมืองในช่วง 45 ปีที่ผ่านมาทำให้ปริมาณของแร่ในแต่ละแหล่งเปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่เริ่มมีการทำเหมืองแร่ยิปซัมมา จังหวัดสุราษฎร์ธานีผลิตแร่ออกได้มากที่สุดรองลงมาเป็นนครศรีธรรมราช นครสวรรค์ และพิจิตร ส่วนที่จังหวัดเลยนั้น กรมทรัพยากรธรณีเพิ่งสำรวจพบใหม่เมื่อ พ.ศ. 2538 และมีการสำรวจเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2540 ทำให้สามารถกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักยภาพของแหล่งแร่ได้ชัดเจนขึ้น จากการประเมินล่าสุดโดยกองเศรษฐธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ได้ประเมินปริมาณสำรองคงเหลือในแต่ละพื้นที่ เป็นดังนี้ 
จังหวัดพิจิตร – นครสวรรค์      98 ล้านตัน       
             จังหวัดสุราษฎร์ธานี                   47 ล้านตัน
             จังหวัดนครศรีธรรมราช            21 ล้านตัน 
สำหรับแร่ยิปซัมที่จังหวัดเลยนั้น การเจาะสำรวจในขั้นกึ่งรายละเอียดชี้ว่า มีปริมาณสำรองแร่ที่เป็นไปได้ไม่น้อยกว่า 35 ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีโอกาสพบแร่เพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียงสูงอีกด้วย ดังนั้น จึงคิดเป็นปริมาณทรัพยากรแร่ยิปซัมคงเหลือทั้งประเทศประมาณ 200 ล้านตัน 
 4. สถานการณ์ปัจจุบัน 
แร่ยิปซัมที่ผลิตได้ประมาณร้อยละ 70 มาจากแหล่งแร่ในภาคใต้ ดังตาราง 
ปริมาณการใช้ยิปซัมภายในประเทศมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตแร่ในแต่ละปี แร่ยิปซัมที่ใช้ในประเทศประมาณร้อยละ 70 จะมาจากแหล่งในภาคเหนือ 
ตลาดแร่ยิปซัมที่สำคัญของไทยได้แก่กลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เคยมีสัดส่วนการนำเข้ามากกว่าร้อยละ 50 ของแร่ยิปซัมที่ส่งออก แต่เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทั่วโลก และประเทศญี่ปุ่นมีการกระจายการนำเข้าแร่ยิปซัมจากหลายประเทศมากขึ้น ได้แก่ เม็กซิโก โมร็อกโค และออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดญี่ปุ่นในระยะทางใกล้เคียงกับประเทศไทย ตลาดส่งออกแร่ยิปซัมรองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน เวียดนาม เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ การตัดราคาระหว่างผู้ขายด้วยกันเองทำให้ราคาแร่ยิปซัมของไทยมีราคาลดลง ราคาแร่ยิปซัมที่ส่งออกจึงอยู่ที่ระดับราคาประมาณ 8 เหรียญสหรัฐ ทำให้ประเทศได้รับประโยชน์จากการขายทรัพยากรในมูลค่าที่ค่อนข้างต่ำทั้งๆที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้กำหนดราคาการส่งออกไว้ที่ 11 เหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2542 - 2545 เป็นต้นมา การส่งออกลดลงเหลือร้อยละ 72 - 68 ของยิปซัมที่ผลิตทั้งหมด 
 5. ปัญหาของแร่ยิปซัม 
ปัญหาส่วนใหญ่คือยิปซัมมีราคาส่งออกค่อนข้างต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะส่งออกแร่ยิปซัมในราคาต่ำกว่าประกาศของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อตัดราคาขายอันจะเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดของตนเอง ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตานโยบายของรัฐบาล กรมทรัพยากรธรณีได้กำหนดมาตรการไม่อนุญาตส่งออกแร่ยิปซัมที่ทำการซื้อขายภายหลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2538 ในราคาที่ต่ำกว่า 17 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน ส่วนคำขอส่งออกแร่ยิปซัมที่มีราคาต่ำกว่าระดับราคานี้ จะพิจารณาเป็นราย ๆ และส่งเสริมให้มีการใช้แร่ยิปซัมภายในประเทศมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้มีการใช้ยิปซัมบอร์ดในอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ ส่วนมาตรการในระยะยาวคือส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าแร่ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นที่อาจทำได้ เช่น อุตสาหกรรมผลิตปูนพลาสเตอร์ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แทนที่จะขายในรูปแร่ดิบ