แร่เฟลด์สปาร์ (feldspar) หรือแร่ฟันม้า 
 กลุ่มวิศวกรรมและความปลอดภัย 
 สำนักเหมืองแร่และสัมปทาน 
เฟลด์สปาร์เป็นแร่ประกอบหินที่มีมากที่สุด พบได้ทั่วไปในหินอัคนี หินแปร หินตะกอน แต่แร่ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจได้จากสายน้ำแร่ร้อน นอกจากนี้แล้วยังมีการผลิตเฟลด์สปาร์จากส่วนที่เป็นหินกราฟิกแกรนิต หินแกรนิตสีขาว หินแอไพลต์ และหินเฟลด์สปาร์ เฟลด์สปาร์เป็นแร่ที่สลายตัวได้ง่ายที่สุดแร่หนึ่ง สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำหรือกรดคาร์บอนิกได้ดี เมื่อสลายตัวแล้วจะกลายเป็นดินเหนียวต่อไป มีสูตรทางเคมีเป็น X.AlSi3O8 ( เมื่อ X คือธาตุโพแทสเซียม โซเดียมและแคลเซียม) แร่นี้มีสีขาวทึบหรือขาวขุ่น มีความแข็งมาตรฐานเท่ากับ 6 
การให้แร่เฟลด์สปาร์ชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของหินหนืด สายแร่ที่มีความสัมพันธ์กับหินแกรนิต มักจะพบในตัวของหินแกรนิตเอง หรือบริเวณรอบ ๆ หินแกรนิต ขนาด รูปร่างและทิศทางของสายแร่ขึ้นอยู่กับรอยแตกในหินแกรนิตหรือหินข้างเคียง สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามปริมาณของ โพแทสเซียมออกไซด์ และโซเดียมออกไซด์ ที่มีอยู่ในเนื้อแร่ ได้แก่ 
1. โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ (KAlSi3O8) ได้แก่ แร่ ไมโครคลายน์ (microcline) และแร่ออร์โทเคลส(orthoclase) พบแร่ทั้งสองนี้มากในหินแกรนิติกเพกมาไทต์ หินแกรนิต หินไซอิไนต์ หินไรโอไลต์ และหินแทรไคต์ แร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ในหินแกรนิต หินไซอิไนต์ หินไรโอไลต์ และหินแทรไคต์มักเกิดเป็นผลึกขนาดเล็กอยู่ร่วมกับแร่อื่นที่มีเหล็กเป็นมลทินปะปนอยู่ด้วยจึงไม่ค่อยมีคุณค่าเชิงพาณิชย์เนื่องจากทำการแยกออกจากแร่อื่นที่เกิดร่วมด้วยให้สะอาดได้ยาก ส่วนแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ที่เกิดในหินแกรนิติกเพกมาไทต์มักเกิดเป็นผลึกขนาดใหญ่ มีปริมาณมากและมีแร่อื่น ๆ ที่มีเหล็กเป็นมลทินปะปนเกิดร่วมอยู่ด้วยน้อยมาก ทำให้สามารถแยกแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ออกจากแร่อื่น ๆ ให้สะอาดได้ง่าย จึงมีการผลิตแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์จากหินแกรนิติกเพกมาไทต์อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมีการผลิตแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์จากหินกราฟิกแกรนิตซึ่งเป็นหินที่มีแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์เกิดอยู่ร่วมกับแร่ควอร์ตซ์ โดยมีปริมาณแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์อยู่มาก 
2. โซเดียมเฟลด์สปาร์ (NaAlSi3O8) ได้แก่แร่แอลไบต์ (albite) พบแร่นี้มากในหินเฟลด์สปาร์ โดยการที่เรียกหินที่เป็นแหล่งผลิตโซเดียมเฟลด์สปาร์ว่าเป็นหินเฟลด์สปาร์ เนื่องจากแร่ประกอบหินที่มีอยู่ในเนื้อหินเฟลด์สปาร์ มีอัตราส่วนของแร่เฟลด์สปาร์ชนิดโพแทสเซ๊ยมเฟลด์สปาร์และแพลจิโอเคลสเฟลด์สปาร์ต่างจากที่มีอยู่ในคำจำกัดความของหินแกรนิต กล่าวคือในหินแกรนิตจะต้องมีแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์มากกว่าแร่แพลจิโอเคลสเฟลด์สปาร์ แต่จากการศึกษาหินที่เป็นแหล่งผลิตโซเดียมเฟลด์สปาร์พบว่ามีปริมาณของแร่แพลจิโอเคลสเฟลด์สปาร์มากกว่าแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์จึงสมควรเรียกเป็นหินเฟลด์สปาร์ 
3. เฟลด์สปาร์ผสม จะมีปริมาณของโพแทสเซียมออกไซด์ ใกล้เคียงกันกับโซเดียมออกไซด์  
 การใช้ประโยชน์ 
- แร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์จะใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่ในการทำน้ำเคลือบในอุตสาหกรรมเซรามิกส์
             - แร่โซเดียมเฟลด์สปาร์จะใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่ในการทำเป็นส่วนผสมของเซรามิกส์ เพื่อขึ้นรูปภาชนะต่าง ๆ ก่อนนำไปเผาในเตาเผา
             - แร่เฟลด์สปาร์ชนิดผสมใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่ในการทำเป็นส่วนผสมของเซรามิกส์ เพื่อขึ้นรูปภาชนะต่าง ๆ ก่อนนำไปเผาในเตาเผา