การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ 
 นายชาตินัย ชูสาย 
 สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 4 อุดรธานี 
พัฒนาการสำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเริ่มต้นโดยการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 และการออกประการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่ต้องมีรายงานการประเมินผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2524 โดยกำหนดให้โครงการ 10 ประเภทต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการขออนุญาตก่อสร้างหรือดำเนินกิจการในกรณีโครงการเอกชน และขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีสำหรับกรณีโครงการของรัฐ
ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในหลายประการ อาทิเช่นการกำหนดให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการพิจารณาให้สั้นลงเป็นต้น

การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ถูกกำหนดให้มีการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการหรือกิจการที่สำคัญ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้ในการประกอบการตัดสินใจพัฒนาโครงการ โดยให้มีการจัดทำเป็นเอกสาร เรียกว่า “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment : EIA )
ซี่งมีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้ (ที่มา : เอกสารประกอบการบรรยาย Dr.O.V. Shipin ,Asian Institute of Technology)
 
การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการเหมืองแร่ทุกประเภท
การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการเหมืองแร่ทุกประเภทมีรายละเอียดดังนี้
(ที่มา : เอกสารคู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรื่อง “แนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม”กองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2541)
1. รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
1.1 แผนผังโครงการทำเหมืองแร่เบื้องต้นที่รับรองโดยวิศวกรเหมืองแร่
1.2 แผนที่แสดงโครงข่ายทางน้ำธรรมชาติที่สัมพันธ์กับพื้นที่โครงการ
1.3 การสำรวจทรัพยากรป่าไม้ให้ถูกต้องตามหลักสถิติ
1.4 การศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ป่า
1.5 การสำรวจแหล่งแร่
1.6 การแสดงทางเลือกอื่น ๆ ของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่
1.7 แผนการปรับปรุงพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองแร่
1.8 การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่
1.9 แผนที่แสดงลักษณะและเส้นทางขนส่งแร่ และการใช้ประโยชน์ที่ดินตามเส้นทางขนส่งแร่
1.10 แผนที่แสดงที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีตลอดจนแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์
1.11 การใช้ระเบิดและปริมาณของวัตถุระเบิดที่ใช้ในแต่ละครั้ง
1.12 แผนที่และรายละเอียดของการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบพื้นที่คำขอประทานบัตร
1.13 การตรวจวัดคุณภาพอากาศ
1.14 รายละเอียดการแต่งแร่
1.15 การตรวจวัดคุณภาพน้ำบริเวณโดยรอบโครงการ
1.16 ภาพตัดขวาง (cross section) ของบริเวณพื้นที่โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
1.17 การศึกษาทัศนคติของราษฎร
2. การประเมินผลกระทบ
2.1 การประเมินผลกระทบโดยไม่มีข้อมูลยืนยัน
2.2 การประเมินผลกระทบเชิงคุณภาพ
3. มาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม
3.1 การเว้นระยะไม่ทำเหมืองในทางน้ำสาธารณะ 50 เมตร
3.2 การปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันทัศนียภาพ
3.3 การสร้างคันทำนบดินล้อมรอบกองมูลดินทราย
3.4 การเปิดหน้าเหมืองโดยมีความลาดชัน 45 องศา เพื่อป้องกันการพังทลายหน้าเหมือง
3.5 การป้องกันผลกระทบเกี่ยวกับระบบน้ำใต้ดิน

 
การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการเหมืองแร่ทุกประเภทต้องมีรายละเอียดขั้นต่ำของขอบเขตการศึกษา(Term Of Reference : TOR) โดยต้องเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานฯ ประกอบในรายงานฯ ด้วย
สำหรับการเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการเหมืองแร่ทุกประเภท จะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคำขอประทานบัตร ซึ่งต้องยื่นต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน โดยด้องมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่ร่วมทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมลงนามรับรองในเอกสารรายงานฯ
 
ที่มาของข้อมูล
1. เอกสารประกอบการบรรยาย Dr.O.V. Shipin ,Asian Institute of Technology
2. เอกสารคู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรื่อง “แนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม”กองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2541
3. คู่มือประชาชนเรื่อง “ระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย” กองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม