การแก้ไขปัญหากรณีบ่อเก็บน้ำใสของเหมืองเค็มโกพังทลาย 
 กลุ่มวิชาการและมาตรฐาน 
 สำนักบริหารและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 

 ไฟล์การแก้ไขปัญหากรณีบ่อเก็บน้ำใสของเหมืองเค็มโกพัง>> Click ที่นี่
ตามที่สื่อสิ่งพิมพ์ได้เสนอข่าวเรื่อง “บ่อเก็บตะกอนตะกั่วเค็มโกพังทลาย” และได้มีการขยายความในรายการโทรทัศน์ เมื่อเดือนตุลาคม 2548 นั้น รายละเอียดข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว มีดังนี้ 
บริษัท กาญจนบุรี เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ไมนิ่ง (เค็มโก) จำกัด หรือบริษัทเค็มโก ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่ตะกั่ว สังกะสี และเงิน ด้วยกรรมวิธีเหมืองอุโมงค์ ที่ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 3 แปลง แปลงแรกมีอายุ 21 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2518 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2539 และอีก 2 แปลง มีอายุ 25 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2520 ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2545 ซึ่งการทำเหมืองแร่และการแต่งแร่ทั้งหมดได้หยุดดำเนินการ ตั้งแต่ประทานบัตรทุกแปลงได้สิ้นอายุลง อย่างไรก็ดี บริษัท เค็มโก ได้ยื่นคำขออนุญาตตั้งโรงแต่งแร่และคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบริเวณโรงแต่งแร่เดิม และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งแร่ทั้งหมด เพื่อทำการแต่งแร่ตะกั่วที่นำมาจากเหมืองแร่บ่องามและโรงแต่งแร่คลิตี้ ตามมติของรัฐมนตรี 4 กระทรวง ที่ให้แก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของตะกั่วในห้วยคลิตี้เมื่อปลายปี 2544 โดยจำนวนแร่ตะกั่วที่รอการแต่งมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 90,000 เมตริกตัน แต่การพิจารณาอนุญาตให้ตั้งโรงแต่งแร่ ตามคำขออนุญาตของ บริษัท เค็มโก ยังไม่แล้วเสร็จ 
โดยปกติในช่วงที่ บริษัท เค็มโก ทำเหมืองอยู่และในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นบริษัทเค็มโก จะเข้าไปตรวจสอบสภาพของท่อระบายน้ำล้นของบ่อกักเก็บน้ำใสจากอุโมงค์เหมืองให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นประจำสม่ำเสมอ แต่ในช่วงเดือนกันยายน 2548 มีฝนตกหนัก ทำให้เศษไม้และวัชพืชอุดตันท่อระบายน้ำล้นดังกล่าว ทำให้น้ำในบ่อกักเก็บเอ่อสูงขึ้นจนล้นคันทำนบและกัดเซาะคันทำนบดินให้พังทลายลง น้ำใสและตะกอนดินที่ไม่แข็งตัวที่สะสมอยู่ที่ก้นบ่อกักเก็บน้ำดังกล่าว จึงได้ไหลลงสู่ที่ลุ่มหลังคันทำนบและห้วยชะนี ซึ่งบ่อดังกล่าวไม่ใช่บ่อกักเก็บตะกอนกากแร่ตามที่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ แต่เป็นบ่อกักเก็บน้ำสุดท้ายที่ระบายออกจากอุโมงค์ ซึ่งน้ำดังกล่าวเป็นน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติภายในอุโมงค์เหมืองแร่ และจากน้ำทิ้งที่ตกตะกอนแล้วจากบ่อกักเก็บกากแร่ของโรงแต่งแร่ ก่อนที่จะถูกระบายลงสู่ห้วยชะนี และจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ล้นจากบ่อดังกล่าว ตลอดระยะเวลาที่ทำเหมืองอยู่และหลังประทานบัตรสิ้นอายุลงแล้ว คุณภาพของน้ำที่ล้นออกสู่ห้วยชะนีที่ผ่านมานั้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินและคุณภาพน้ำเพื่อการบริโภค (มีตะกั่วไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัม/ลิตร) 
ภายหลังเหตุการณ์คันทำนบดินบ่อกักเก็บน้ำใสดังกล่าวพังทลายลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กรมควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการตรวจสอบผลกระทบ และได้สั่งการให้บริษัทเค็มโก ทำการแก้ไขซ่อมแซมคันทำนบดินบ่อดังกล่าวให้มีความแข็งแรงด้วยการบดอัดจนสามารถใช้การได้ดังเดิม พร้อมทั้งทำการปรับปรุงทางระบายน้ำล้นให้สามารถใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2548 และจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำและตะกอนธารน้ำ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อมภายหลังจากเกิดปัญหาคันทำนบพังทลายของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าคุณภาพน้ำจากห้วยชะนีจนถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์มีค่าตะกั่วไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินมีความปลอดภัยในการใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ ส่วนบริเวณลำห้วยชะนีท้ายคันทำนบของบ่อกักเก็บน้ำใสมีค่าตะกั่วในตะกอนธารน้ำสูง คาดว่าเป็นตะกอนดินจากบ่อกักเก็บน้ำใสที่ พังทลายลง จึงมีการสั่งการให้บริษัทเค็มโก ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยชะนีโดยการขุดลอกตะกอนดินจากการพังทลายของคันทำนบเพื่อนำไปฝังกลบอย่างเหมาะสม โดยกรมควบคุมมลพิษได้ทำการสำรวจปริมาณตะกั่วในตะกอนดินตลอดลำห้วยชะนีและกำหนดบริเวณที่จะทำการขุดลอกตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วสูง ทั้งนี้ ยังได้สั่งให้บริษัท เค็มโก จัดทำฝายน้ำทิ้งชั่วคราวบนห้วยชะนี 2 แห่ง เพื่อดักตะกอนดินไม่ให้แพร่กระจายไกลออกไป และป้องกันการแพร่หรือฟุ้งกระจายของตะกอนดินในลำห้วยระหว่างการขุดลอกตะกอนดินด้วย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของ บริษัท เค็มโก และตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป 
......ผู้สนใจสามารถ Download ไฟล์เอกสารในรูปแบบของ .pdf ไฟล์ ด้านบนครับ ......