การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเหมืองแร่ 
 กลุ่มส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม 
 สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม 

 ไฟล์เอกสาร>> Click ที่นี่
ในอดีตทีผ่านมา ความรับผิดชอบในการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐโดยตรงฝ่ายเดียว ทำให้การจัดการดูแลไม่ทั่วถึงและดีพอ ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีขอบเขตกว้างขวางมีความซับซ้อน และเกี่ยวเนื่องกับปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะ ทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมประสบผลสำเร็จได้คือ ความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐในท้องถิ่น (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ภาคเอกชน (ผู้ประกอบการ) และประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยทุกฝ่ายจะต้องมีบทบาทและหน้าที่ในการดูแลสิ่งแวดล้อมที่สอดรับประสานในทิศทางเดียวกัน 
 การดำเนินงานภาครัฐในท้องถิ่น 
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้กระจายอำนาจด้านการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยได้เริ่มดำเนินการถ่ายโอนภารกิจตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 และได้แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางตำแหน่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 ตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 467/2546 และ 127/2547 ให้มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 70 เฉพาะการตรวจสอบปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการทำเหมือง และให้ความเห็นหรือคำแนะนำและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการร้องเรียนจากการทำเหมืองแร่ ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการปฏิบัติงานที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กำหนดเท่านั้น และให้ อปท. รายงานผลการปฏิบัติงานตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งจะเป็นผู้ส่งรายงานต่อมายังกพร. เพื่อพิจารณาต่อไป 
ในช่วงก่อนการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว กพร. ได้ดำเนินการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ อปท. ทั้งหมดที่มีประทานบัตรและคำขอประทานบัตรตั้งอยู่จำนวน 730 คน มีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้รับทราบถึงภารกิจที่ถ่ายโอนให้ อปท. และขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ อปท. เข้าตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประทานบัตรเหมืองแร่ และเมื่อถ่ายโอนแล้ว กพร. โดยสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม (สบส.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปติดตามให้คำแนะนำแก่ อปท. เพื่อสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานให้แก่ อปท. สำหรับ อปท.บางแห่งที่เกรงจะเกิดปัญหาความขัดแย้งหรือไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการได้ประสานขอความร่วมมือจากฝ.พร. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อเป็นพี่เลี้ยงและแนะนำในการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการเหมืองแร่ แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมืออย่างดี และจากการสอบถามผู้ประกอบการให้ความเห็นว่า การเข้าไปตรวจของ อปท. มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการหลายประการ อาทิเช่น สามารถรับทราบข้อมูลความเห็นของชุมชนผ่าน อปท. ได้รับคำแนะนำจาก อปท. ในเรื่อง การป้องกันสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ซึ่งช่วยให้การทำเหมืองปรับปรุงในสิ่งที่ดีขึ้น ช่วยในเรื่องการประสานงานและสร้างความเข้าใจร่วมกัน สามารถสอบถามพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยตรงจาก อปท. ซึ่งช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้รวดเร็วและทำให้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการกับชาวบ้านน้อยลงด้วย 
เมื่อถ่ายโอนภารกิจดังกล่าวแล้ว กพร. ยังคงจัดให้มีการฝึกอบรม สัมมนาร่วมกันระหว่างภาครัฐในท้องถิ่น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนแนวคิด วิธีการปฏิบัติงานและปัญหาอุปสรรคของ อปท. แต่ละแห่งเป็นประจำทุกปี การฝึกอบรม ช่วยให้มีการสร้างสัมพันธภาพและทัศนคติที่ดี ก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติงานตามภารกิจที่ถ่ายโอน นอกจากการจัดฝึกอบรมสัมมนาแล้ว กพร. ยังมีมาตรการเสริมอื่น ๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติงานตามภารกิจ อาทิเช่น การแจกรางวัลเกียรติยศให้แก่ อปท. ที่ปฏิบัติงานดีเด่น เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจแก่ อปท. ให้ปฏิบัติงานตามภารกิจที่ถ่ายโอนของ กพร.เพิ่มขึ้น การแจ้งเตือนให้ส่งรายงานตามรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้เป็นระยะ ๆ เป็นต้น 
จากการรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติงานของ อปท. ที่ผ่านมาพบว่าในปีที่ 1 ของการถ่ายโอนภารกิจ (ธันวาคม 2546 – ธันวาคม 2547) มีการรายงานการปฏิบัติงานของ อปท. เพียง 115 แห่งจาก 457 แห่ง ของ อปท.ที่มีประทานบัตรตั้งอยู่ คิดเป็นร้อยละ 25.16 แต่เมื่อมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การกระตุ้น และสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่อง พบว่าจนถึงเดือนธันวาคม 2549 มีการรายงานของ อปท. เพิ่มขึ้นเป็น 305 แห่ง จาก 450 แห่ง ของ อปท.ที่มีประทานบัตรตั้งอยู่ คิดเป็นร้อยละ 67.78 สามารถดูแลประทานบัตรเหมืองแร่ได้ถึงร้อยละ 60.05 จากประทานบัตรที่มีอยู่ทั้งหมด 1,467 แปลง จากการกระจายอำนาจดังกล่าวช่วยให้การดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ในภาครัฐมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น การแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีต่อชุมชนสามารถทำได้รวดเร็วก่อนปัญหาจะลุกลามมากขึ้น นอกจากนี้มี อปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นผู้ประสานความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการและประชาชน และหาก อปท.ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจสามารถปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี กพร. อาจมีการขยายขอบเขตการปฏิบัติงานของ อปท. ให้ครอบคลุมการประกอบการประเภทอื่น ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กพร. เพิ่มขึ้นหรืออาจมีการมอบหมายอำนาจให้ อปท. เพิ่มขึ้นก็เป็นได้ 
 การดำเนินงานภาคเอกชน (ผู้ประกอบการ) 
สำหรับการดำเนินงานภาคเอกชนซึ่งในที่นี้หมายถึงผู้ประกอบการเหมืองแร่ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมและป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษ กพร.ได้ดำเนินงานโดยจัดให้มีการประชุม อบรม สัมมนาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ตระหนักและรับทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบการ ความรู้ ด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม รวมทั้งได้สร้างสัมพันธภาพและทัศนคติที่ดีระหว่างผู้ประกอบการกับ อปท. โดยได้จัดให้ผู้ประกอบการและ อปท. เข้าร่วมการประชุมร่วมกัน ซึ่งจัดขึ้นในปี 2548 และ 2549 นอกจากนี้ในบางพื้นที่ เช่นที่ จ.อุบลราชธานี หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คุณจิรพงษ์ โรจนประดิษฐ์ ได้นำรูปแบบการประชุมร่วมกันไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เริ่มมีการจัดประชุมตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ อปท.ที่มีประทานบัตรตั้งอยู่ ผู้ประกอบการ เหมืองแร่ และผู้ประกอบการโรงโม่บดหรือย่อยหิน มี ฝ.พร.เป็นแกนนำ การจัดการประชุมร่วมกันนี้ช่วยให้แต่ละฝ่ายได้ทราบถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง และได้ทำความเข้าใจกันในเรื่องต่าง ๆ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ปัญหาต่าง ๆ ได้มีการพูดคุยในที่ประชุมและหาทางแก้ไขที่เป็นความคิดเห็นที่ยอมรับร่วมกัน ซึ่งช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในท้องถิ่น และสามารถร่วมกันแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังได้มีการเชิญเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ คำแนะนำ และข้อเสนอแนะในการทำเหมืองหินและโรงโม่หินอย่างถูกต้องแก่ผู้ประกอบการทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ การดำเนินการจัดประชุมนี้จะใช้สถานที่ของผู้ประกอบการแต่ละรายที่มีอยู่หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเอาใจใส่ดูแลสิ่งแวดล้อมภายในสถานประกอบการของตนให้ดีไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาเยี่ยมเยือน 
 การดำเนินงานภาคประชาชน 
กพร. ได้จัดการประชุมที่ให้ผู้นำท้องถิ่นเข้าร่วมในการประชุมกับ อปท. เมื่อปี พ.ศ.2547 จำนวน 86 คน แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงประชาชนทั่วไป ดังนั้นในปี พ.ศ. 2550 นี้ จึงได้กำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเหมืองแร่ โดยจัดทำ “โครงการส่งเสริมภาคประชาชนในการเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหมืองแร่” ทั้งนี้ การดำเนินงานจะมีลักษณะเป็นการให้ความรู้แก่ภาคประชาชนในท้องถิ่น และสร้างช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในท้องถิ่นให้ร่วมมือในการเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบการเหมืองแร่ในพื้นที่และสามารถสะท้อนผลการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมายังส่วนกลาง ทั้งนี้ จะมีการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมทำเป็นโครงการนำร่องและหากประสบความสำเร็จจะใช้เป็นต้นแบบที่จะดำเนินการในพื้นที่อื่นต่อไป 
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้พยายามส่งเสริมให้ ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรแร่และดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ความสำเร็จของการมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมมือดำเนินงานด้วยกันอย่างดี และมีความจริงใจในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งร่วมกัน