แนวทางการก้าวสู่การเป็นพิธีกรมืออาชีพ 

 ไฟล์เอกสาร "แนวทางการก้าวสู้การเป็นพิธีกรมืออาชีพ">> Click ที่นี่
 พิธีกร 
คือ ผู้ดำเนินรายการในกิจกรรมนั้นๆ ให้เป็นไปตามกำหนดการ 
 บทบาทหน้าที่ของพิธีกร 

(1) เป็นผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ กำหนดการ และรายละเอียดของรายการ
(2) แนะนำวิทยากร และผู้ที่เกี่ยวข้อง
(3) เป็นผู้เริ่ม คือ กล่าวทักทาย และกล่าวต้อนรับ เชิญเข้าสู่พิธีการ เชิญวิทยากรขึ้นพูด และแนะนำประวัติของวิทยากร
(4) เป็นผู้เชื่อมประสานเหตุการณ์ตามลำดับแต่ละรายการ
(5) เป็นผู้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างดำเนินรายการ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือมีสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น ไมโครโฟนไม่ติด ไฟดับ ฯลฯ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น และบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดงาน 
 การเตรียมตัวก่อนวันงาน 

(1) ศึกษาข้อมูลในเรื่องที่รับผิดชอบในการเป็นพิธีกรแต่ละครั้งเป็นอย่างดี เช่น ศึกษาข้อมูลของงาน ลำดับขั้นตอนตามพิธีการหรือกำหนดการต่างๆ และผู้ฟัง ฯลฯ
(2) จัดเตรียมเนื้อหาและคำพูด (สคริป) ด้วยตนเอง และตรวจสอบความเหมาะสมของถ้อยคำ โดยถ้อยคำต้องเหมาะสมทั้งกับเนื้องานหรือลักษณะของงาน และผู้ฟัง
(3) มีการซ้อมการพูดก่อนวันงานประมาณ 2 สัปดาห์ โดยการอ่านให้เพื่อนร่วมงานฟัง และให้ช่วยวิจารณ์ เพื่อทำการปรับปรุงแก้ไข หรือโดยการอัดเทป
(4) ศึกษาสถานที่จัดงานล่วงหน้า เช่น ตำแหน่งที่จะต้องยืนทำหน้าที่พิธีกร ทดสอบไมโครโฟน ฯลฯ 
 การทำหน้าที่เป็นพิธีกรในวันงาน 

(1) แต่งกายสุภาพและเหมาะสมกับพิธีการ
(2) ไปถึงสถานที่จัดงานก่อนเวลาเริ่มงานประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อเตรียมตัว และสำรวจความพร้อมของเวที แสง สี เสียง และทดสอบไมโครโฟน ฯลฯ
(3) ทำหน้าที่ให้สุดฝีมือ
(4) ทำจิตใจให้แจ่มใส ควบคุมตนเองให้อยู่ในอาการสงบ ไม่ประหม่า
(5) มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มีการวางกริยา ท่าทาง และใช้สายตาต่อผู้ฟังได้อย่างเหมาะสม
(6) มีการสรุปเนื้อหาที่วิทยากรพูดไว้ได้อย่างกระชับและชัดเจน
(7) สื่อสารให้ผู้ฟังหรือผู้ร่วมกิจกรรมเข้าใจ และให้ความร่วมมือทำกิจกรรมได้เป็นอย่างดี 
 บุคลิกลักษณะของการเป็นพิธีกรที่ดี 

(1) มีความมั่นใจในตนเอง
(2) มีบุคลิกภาพที่ดี เป็นธรรมชาติ
(3) มีความคล่องแคล่ว ว่องไว กระฉับกระเฉง
(4) มีน้ำเสียงนุ่มนวล ชวนฟัง เป็นธรรมชาติ พูดไม่ติดขัด ไม่สั่นเครือ ถูกจังหวะจะโคลน ไม่ดังหรือเบาเกินไป และควรมีการเน้นถ้อยคำ เพื่อให้ผู้ฟังเห็นความสำคัญ และให้ความสนใจ
(5) ใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องตามหลักภาษาไทย เช่น ออกเสียงอักษรควบกล้ำ ตัว ร ล ได้อย่างถูกต้อง ฯลฯ
(6) มีไหวพริบปฏิภาณ สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
(7) มีความสนใจและศึกษาความรู้ต่างๆ หรือเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงใช้ในการเป็นพิธีกร
(8) ศึกษาและเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากพิธีกรมืออาชีพในสถานการณ์จริง  

จัดทำโดย
กลุ่มงานเผยแพร่และอำนวยการ
สำนักบริหารกลาง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
โทร. 0 2202 3555