การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเซรามิก 
 สำนักโลจิสติกส์อุตสาหกรรม 
 สำนักโลจิสติกส์อุตสาหกรรม 
 การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเซรามิก 
อุตสาหกรรมเซรามิกเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมเซรามิก ประกอบกับมีภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม จึงได้ร่วมกับศูนย์วิจัยโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเซรามิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และวิธีการจัดการที่ดีที่สุด (Best Practice) เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยผลการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมเซรามิกมีศักยภาพที่จะพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เพื่อลดต้นทุนและลดระยะเวลาในโซ่อุปทานได้ โดยมีแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ (1) ลดเวลาและความสูญเปล่าในโซ่อุปทาน (2) รวมกลุ่มในลักษณะของคลัสเตอร์ (3) พัฒนาระบบ Hub และ Spoke ในการกระจายสินค้าเพื่อลดต้นทุนขนส่ง
การดำเนินงาน
- ศึกษาและวิเคราะห์สถานภาพ ประเด็นปัญหาด้านโลจิสติกส์ กระบวนการและกิจกรรม รวมทั้งโครงสร้างต้นทุนและระยะเวลาในโซ่อุปทาน
สำรวจข้อมูลโดยแบบสอบถามและสัมภาษณ์เชิงลึกในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซรามิก ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ เหมืองและโรงแต่งแร่ โดยเน้นที่วัตถุดิบสำหรับการผลิตเซรามิก 3 ประเภท คือ ดินขาว ดินดำหรือบอลเคลย์ และเฟลสปาร์ จนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ โรงงานผลิตเซรามิก อาทิ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของชำร่วย และเครื่องประดับ ไปจนถึงผู้จัดจำหน่ายสินค้าเซรามิก 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องใช้ภายในบ้านที่มีขนาดใหญ่ และกลุ่มผู้ค้าส่งสินค้าเซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของชำร่วยและเครื่องประดับ
- วิเคราะห์และประเมินผลโดยใช้หลักการของ SCOR Model (Supply Chain Operation Reference Model) วัดประสิทธิภาพของการจัดการโลจิสติกส์ในโซ่อุปทาน ครอบคลุม 5 องค์ประกอบ ได้แก่ ความน่าเชื่อถือ (Reliability) ความสามารถในการตอบสนอง (Responsiveness) ความยืดหยุ่น (Flexibility) และสินทรัพย์ (Asset) เพื่อเสนอวิธีการจัดการที่ดีที่สุด
ผลการศึกษา
-ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 23
-ระยะเวลาในโซ่อุปทานเฉลี่ยประมาณ 85 วัน โดยร้อยละ 97 ของเวลาในกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่า เป็นกระบวนการจัดเก็บในโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเก็บวัตถุดิบ และสินค้าในกระบวนการผลิตสินค้าสำเร็จรูป
แนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเซรามิก
จากการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมเซรามิกมีศักยภาพในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เพื่อลดต้นทุนและลดระยะเวลาในภาพรวมได้ โดยมีแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ (1) การลดเวลาและความสูญเปล่าต่างๆ ในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซรามิก (2) การรวมกลุ่มในลักษณะของคลัสเตอร์ โดยพิจารณาแต่ละขั้นตอนในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซรามิก และ (3) การพัฒนาระบบ Hub และ Spoke ในการกระจายสินค้าเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้นำเสนอผลการศึกษาในการสัมมนา เรื่อง “การเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมเซรามิกไทย” เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ณ ห้องเวียงแก้ว โรงแรมลำปางเวียงทอง จ.ลำปาง ซึ่งมีผู้ประกอบการผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งจะได้นำไปขยายผลสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในโครงการนำร่องการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์เชิงลึกกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งจะดำเนินการภายในปี 2551 นี้
.......................................................
การนำร่องการพัฒนาประสิทธิภาพ
โลจิสติกส์เชิงลึกกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ดำเนินโครงการนำร่องการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์เชิงลึกกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการมีการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้อย่างน้อยร้อยละ 15 ตลอดจนสร้างบุคลากรหลักด้านโลจิสติกส์สำหรับเป็นต้นแบบการพัฒนาต่อเนื่องภายในองค์กร (Train the Trainer Program)
ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักโลจิสติกส์อุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โทร. 0 2202 3647 โทรสาร 0 2644 8745