มาตรการทางอาญาของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
ในการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ 
 จิตตพงค์ สระชิต 
 กลุ่มตรวจสอบแผนงานและโครงการ สำนักการอนุญาต 

 ไฟล์envi-measure.pdf>> Click ที่นี่
 บทคัดย่อ 
กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศมักจะอยู่ในรูปของอนุสัญญา (conventions) พิธีสาร (protocols) และแนวปฏิบัติที่มีลักษณะเป็น soft law เช่นแถลงการณ์ร่วม (declarations) และบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาก็ใช้มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมในการคว่ำบาตรสินค้าชนิดที่ได้มาโดยการทำลายสิ่งแวดล้อมและหากประเทศใดมีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงก็จะถูกคว่ำบาตรทางการค้าทั้งหมด ส่วนกฎหมายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศนั้น หมายถึงกฎหมายภายในของรัฐต่างๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ควบคุมป้องกันมลพิษ ส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อมมีผลทำให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี ซึ่งกฎหมายภายในดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายปกครองหรือกฎหมายมหาชน 
มาตรการทางอาญาในกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะกล่าวถึง4 ฉบับ อันได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมโดยเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาถึงความเหมาะสมในการใช้มาตรการทางอาญาเพื่อดำเนินคดีกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ในความผิดที่เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยนำมาวิเคราะห์หาแนวทางปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป