กองทุนสิ่งแวดล้อมกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ 
 นางนัยนา กัลลประวิทย์ 
 สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม 

 ไฟล์งานเนื้อหาบทความ>> Click ที่นี่
 กองทุนสิ่งแวดล้อม 
กองทุนสิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นมาตรการทางการเงินที่จะสร้างแรงจูงใจให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อการป้องกัน แก้ไข และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศตามหลักการผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle : PPP) 
กองทุนสิ่งแวดล้อม มีเงินทุนในระยะเริ่มแรก (พ.ศ.2535) รัฐบาลโอนเงินจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิต 500 ล้านบาท และเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 4,500 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่รัฐบาลได้อนุมัติ 5,000 ล้านบาท ในกรณีเงินกองทุนมี ไม่เพียงพอ รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบตามความจำเป็น ในปี 2536-2538 ได้มีการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินอีก 1,250 ล้านบาท และได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) เมื่อปี พ.ศ.2537 ประมาณ 3,400 ล้านบาท เพื่อนำมาสมทบกองทุนสิ่งแวดล้อม 
กองทุนสิ่งแวดล้อม แบ่งการจัดสรรเงินเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1. จัดสรรเงินอุดหนุน เป็นการจัดสรรให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยเป็นการให้เปล่ากับโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ทั้งนี้จะมีคณะอนุกรรมการเป็นผู้กลั่นกรอง วิเคราะห์และศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ประเมินความเหมาะสมและติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับการจัดสรร โดยมีกรมบัญชีกลางเป็นผู้จัดการกองทุน
2. จัดสรรเงินกู้ เป็นการจัดสรรให้กลุ่มเป้าหมาย โดยมีการคิดดอกเบี้ยที่ 2-3% (แล้วแต่หลักประกัน) และคงที่ตลอดอายุสัญญา ปลอดเงินต้น 2 ปีแรก มีระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี มีผู้จัดการกองทุน ได้แก่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย และเป็นผู้วิเคราะห์โครงการด้วย 
 ผู้มีสิทธิขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม 
กรณีเป็นเงินอุดหนุน ได้แก่ ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เอกชนและองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
กรณีเป็นเงินกู้ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ณ ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลยังไม่สามารถขอรับการสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยยังมิได้ออกระเบียบในการกู้เงินขององค์การบริหารส่วนตำบลไว้) สำหรับเอกชนที่ขอกู้ต้องเป็นเอกชนที่ดำเนินโครงการที่มีลักษณะกิจกรรมและกระบวนการที่อาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่างๆ และมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดให้มีระบบบำบัดมลพิษในกิจการนั้นๆ หรือเป็นผู้รับจ้างให้บริการบำบัดน้ำเสียหรือกำจัดของเสียตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 
สำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ หากพิจารณาแล้วจะพบว่าสามารถขอรับการสนับสนุนได้จากกรณีเป็นเงินกู้เนื่องจากเป็นโครงการที่เอกชนมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย ระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสียหรืออุปกรณ์อื่นใดเพื่อการควบคุมบำบัดหรือขจัดมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมหรือการดำเนินกิจการของตนเอง ดังนั้นจึงขอพูดเฉพาะในส่วนของกองทุนสิ่งแวดล้อมในกรณีจัดสรรเงินกู้สำหรับภาคเอกชน 
 การกู้เงิน 
กองทุนสิ่งแวดล้อมภาคเอกชนได้ให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและกรณีนิติบุคคล วงเงินจัดสรรเงินกู้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมเห็นสมควร ทั้งนี้ต้องไม่เกินวงเงินของระบบหรืออุปกรณ์อื่นใดดังกล่าว อัตราดอกเบี้ยในกรณีที่ใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือโอนสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ 2 ต่อปี ส่วนกรณีที่ใช้หลักทรัพย์อื่นค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ 3 ต่อปี โดยมีระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 7 ปี ทั้งนี้จะเป็นระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 2 ปี 
 ขั้นตอนการพิจารณา 
กองทุนสิ่งแวดล้อมมีขั้นตอนการพิจารณาโครงการจัดสรรเงินกู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของเอกชน ดังนี้
1. เอกชนจัดทำเอกสารตามแบบคำขอเงินกู้จากกองทุนสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ และจัดทำข้อเสนอโครงการ (Proposal) ซึ่งประกอบด้วย วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย รายละเอียดโครงการ แผนการดำเนินงานและการเงิน ผลที่คาดว่าจะได้รับ แบบแปลนรายละเอียดพร้อมรายการประมาณราคา (BOQ) จำนวนสินทรัพย์ จำนวนเงินกู้และแผนการใช้เงิน (ระบุจำนวนงวดเงิน) เอกสารอื่นๆ เพื่อประกอบการขอรับการสนับสนุน ได้แก่ งบการเงินย้อนหลัง 3 ปี สำเนาหนังสือที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น จำนวน 2 ชุด เสนอต่อผู้จัดการกองทุน (บมจ.ธนาคารกรุงไทย)
2. บมจ.ธนาคารกรุงไทย ตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร
3. บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการทั้งทางเทคนิคและความสามารถในการผ่อนชำระหนี้
4. บมจ.ธนาคารกรุงไทย แจ้งผลการพิจารณาความเหมาะสมให้คณะกรรมการกองทุนฯ ผ่านสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
5. คณะกรรมการกองทุนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แจ้งให้สผ.เพื่อแจ้งมติให้ บมจ.ธนาคารกรุงไทยและผู้กู้ทราบ
6. ในกรณีที่มีมติเห็นชอบหลังจากนั้น บมจ.ธนาคารกรุงไทย จัดทำสัญญากู้ยืมเงินกับผู้กู้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติ 
 สถานที่ยื่นขอกู้ 
เอกชนที่มีความประสงค์จะขอกู้เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อม จะต้องจัดทำเอกสารยื่นเสนอต่อ บมจ.ธนาคารกรุงไทย หากมีความประสงค์จะขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อกับธนาคารกรุงไทย จำกัด ทุกสาขาที่อยู่ใกล้บ้าน หรือสอบถามได้ที่ ฝ่ายราชการสัมพันธ์ 2 โทรศัพท์ 02-208-8464-5 
ดังนั้น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ต่างๆ อาทิเช่น การทำเหมืองแร่ การทำโรงโม่หิน การแต่งแร่ ที่ยังไม่มีระบบบำบัดอากาศเสียหรือน้ำเสีย ระบบกำจัดของเสียหรืออุปกรณ์อื่นใดเพื่อควบคุมบำบัดหรือขจัดมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมหรือการดำเนินกิจการของตนเองเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย สามารถขอรับการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้ แต่หากได้จัดทำระบบบำบัดเสร็จสิ้นแล้ว โดยใช้ทุนของตนเองและต่อมาทราบว่ามีโครงการเงินกู้ จะมายื่นขอกู้ของที่ทำแล้วไม่ได้ นอกจากนี้ หากบริษัทในเครือจะขอกู้เพื่อจัดทำระบบบำบัดดังกล่าวให้กับบริษัทแม่ไม่ได้ ที่สำคัญต้องเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการเองเท่านั้น ทั้งนี้ข้อกำหนดดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้มากยิ่งขึ้น 
 คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม 
คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการระดับการบริหารและจัดการกองทุนสิ่งแวดล้อมโดยมีหน้าที่ในการกำหนดระเบียบ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งเป็น ผู้พิจารณาอนุมัติจัดสรรเงินและการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารงานของกองทุนสิ่งแวดล้อม 
คณะกรรมการกองทุน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานคณะกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมโยธาธิการ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ไม่เกิน 5 คน) เป็นกรรมการเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ 

อ้างอิง
1. กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กันยายน 2552
2. พรบ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 
แผนภูมิขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาโครงการเงินกู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของเอกชน (โปรดคลิก ไฟล์งานเนื้อหาบทความ ด้านบน)