กฎกระทรวง
ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2514)
ออกตามความในพระราชบัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509
.................................

          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราช บัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
          ข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในพระราช บัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2509
          ข้อ 2 วิธีการกำหนดราคาตลาดของแร่ ให้กำหนดดังนี้
           (1) แร่ดีบุก
               (ก) ราคาโลหะดีบุกในแร่ ให้ประกาศเป็นราคาต่อหกสิบกิโลกรัม โดย ให้ถือราคาในตลาดดังต่อไปนี้ เป็นราคาประกาศตามลำดับ
                   1. ราคาในตลาดสหพันธ์มาเลเซียที่ซื้อขายกันครั้งหลังสุด แต่ทั้งนี้ต้อง มีการซื้อขายติดต่อกันไม่น้อยกว่ายี่สิบวันทำการ
                   2. ในกรณีที่ถือราคาตลาดสหพันธ์มาเลเซียเป็นราคาประกาศตาม 1. แล้ว หากปรากฎว่าตลาดสหพันธ์มาเลเซียไม่มีการซื้อขายติดต่อกันเกิน
สามวันทำการ ให้ถือ ราคาตลาดนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ซื้อขายกันในขณะนั้น ซึ่งได้หักค่าขนส่งและค่าประกันภัยจากท่าเรือนครลอนดอน
ถึงท่าเรือกรุงเทพฯ ตามอัตราที่อธิบดีประกาศกำหนดออกแล้ว
                   3. ในกรณีที่ไม่อาจถือราคาตลาดสหพันธ์มาเลเซียหรือตลาดนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นราคาประกาศตาม 1. หรือ 2. ได้ ให้ถือราคาตลาดนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ที่ซื้อขายกันในขณะนั้น ซึ่งได้หักค่าขนส่งและค่าประกันภัยจากท่าเรือนครนิวยอร์คถึงท่าเรือกรุงเทพฯ ตามอัตราที่อธิบดีประกาศกำหนดออกแล้ว
                   4. ในกรณีที่ทั้งในตลาดสหพันธ์มาเลเซีย ตลาดนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ และตลาดนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ไม่มีการซื้อขายในขณะนั้น ให้ถือราคาที่ซื้อขาย ภายในประเทศตามที่อธิบดีกำหนด
               (ข) เมื่อใดราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากราคาที่ได้ประกาศครั้งหลังสุดเกิน ห้าสิบบาทต่อหกสิบกิโลกรัม ให้ประกาศใหม่
           (2) แร่ชนิดที่มีทังสติกออกไซด
               (ก) ราคาแร่ชนิดที่มีทังสติกออกไซด์ ให้ประกาศโดยถือจากราคาตลาดของ แร่ชนิดที่มีทังสติกออกไซด์ร้อยละเจ็ดสิบครั้งหลังสุดที่ซื้อขายกัน ในนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ต่อแร่หนึ่งหาบหลวง ซึ่งได้หักค่าขนส่งและค่าประกันภัยจากท่าเรือนครนิวยอร์คถึงท่าเรือกรุงเทพฯ ตามอัตราที่ อธิบดีประกาศกำหนดออกแล้ว
               (ข) เมื่อใดราคาเพิ่มขึ้นหรือลงลงจากราคาที่ได้ประกาศครั้งหลังสุดเกิน ยี่สิบห้าบาทต่อหนึ่งหาบหลวง ให้ประกาศใหม่
           (3) แร่ทองคำ
               (ก) ราคาแร่ทองคำ ให้ประกาศเป็นราคาต่อหนึ่งกรัมของทองคำบริสุทธิ์ โดยให้ถือจากราคาตลาดครั้งหลังสุดที่ซื้อขายกันในนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ
               (ข) เมื่อใดราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากราคาที่ได้ประกาศครั้งหลังสุด เกินหนึ่งบาทต่อหนึ่งกรัมของทองคำบริสุทธิ์ให้ประกาศใหม่
           (3 ทวิ) แร่เงิน
                   (ก) ราคาแร่เงินให้ประกาศเป็นราคาต่อหนึ่งกรัมของเงินบริสุทธิ์ โดยให้ถือราคาตลาดของโลหะเงินครั้งหลังสุดที่ซื้อขายกันในนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ
                   (ข) เมื่อใดราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากราคาที่ได้ประกาศครั้งหลังสุดเกินหนึ่งบาท ต่อหนึ่งกรัมของเงินบริสุทธิ์ให้ประกาศใหม่
           (3 ตรี) แร่แทนทาไลท์และแร่โคลัมไบท์ที่รวมกันอยู่
                   (ก) ราคาแร่แทนทาไลท์และแร่โคลัมไบท์ที่รวมกันอยู่ ให้ประกาศเป็นราคา ต่อหนึ่งเมตริกตัน โดยให้ถือราคาตลาดของแร่แทนทาไลท์ที่มี ตันตาลัมเพนตอกไซด์ในแร่ร้อยละสามสิบครั้งหลังสุดที่ซื้อขายกันในนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ
                   (ข) เมื่อใดราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากราคาที่ได้ประกาศครั้งหลุงสุดเกิน สี่ร้อยบาทต่อหนึ่งเมตริกตัน ให้ประกาศใหม่
           (3 จัตวา) ตะกรันที่มีโคลัมเบียมเพนตอกไซด์ หรือตันตาลัมเพนตอกไซด์ หรือทั้งสองชนิดรวมกัน
                     (ก) ราคาตะกรันที่มีโคลัมเบียมเพนตอกไซด์หรือตันตาลัมเพนตอกไซด์ หรือทั้งสองชนิดรวมกัน ให้ประกาศเป็นราคาต่อหนึ่งเมตริกตัน โดยให้ถือราคาตลาดเฉลี่ยของแร่ แทนทาไลท์ที่มีตันตาลัมเพนตอกไซด์ในแร่ร้อยละสามสิบครั้งหลังสุดที่ซื้อขายกันในนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้หักค่าถลุงตามเปอร์เซนต์ของตันตาลัมเพนตอกไซด์ ตามที่อธิบดีประกาศ กำหนด ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
                         1. สำหรับตะกรันที่มีตันตาลัมเพนตอกไซด์ไม่เกินร้อยละห้า ให้คิดราคาที่ร้อยละห้า
                          2. สำหรับตะกรันที่มีตันตาลัมเพนตอกไซด์เกินร้อยละห้า แต่ไม่เกิน ร้อยละแปด ให้คิดราคาที่ร้อยละแปด
                         3. สำหรับตะกรันที่มีตันตาลัมเพนตอกไซด์เกินร้อยละแปดขึ้นไป ให้คิด ราคาร้อยละสิบสาม
                     (ข) เมื่อใดราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากราคาที่ได้ประกาศครั้งหลังสุดเกินสี่ร้อยบาทต่อหนึ่งเมตริกตัน ให้ประกาศใหม่
           (3 เบญจ) แร่ตะกั่วหรือแร่สังกะสี
                     (ก) ราคาแร่ตะกั่วหรือแร่สังกะสี ให้ประกาศเป็นราคาต่อหนึ่งเมตริกตัน โดยให้ถือราคาตลาดของโลหะตะกั่วหรือโลหะสังกะสีครั้งหลังสุดที่ซื้อขายกันในนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้หักค่าขนส่งและค่าประกันภัยจากท่าเรือนครลอนดอนถึงท่าเรือกรุงเทพฯ ตามอัตราที่ อธิบดีประกาศกำหนดตามชนิดของแร่นั้นออกแล้ว
                     (ข) เมื่อใดราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากราคาที่ได้ประกาศครั้งหลังสุด เกินห้าสิบบาทต่อหนึ่งเมตริกตัน ให้ประกาศใหม่
           (3 ฉ) โลหะแคดเมียม
                  (ก) ราคาโลหะแคดเมียม ให้ประกาศเป็นราคาต่อหนึ่งเมตริกตัน โดย ถือราคาตลาดเฉลี่ยในรอบหนึ่งเดือนของโลหะแคดเมียมที่มี แคดเมียมไม่ต่ำกว่าร้อยละเก้าสิบเก้าจุดเก้าห้า ที่ซื้อขายกันในนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้หักค่าขนส่งและค่าประกันภัยจากท่าเรือนครลอนดอนถึงท่าเรือกรุงเทพฯ ตามอัตราที่อธิบดีประกาศกำหนด
                  (ข) เมื่อใดราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากราคาที่ได้ประกาศครั้งหลังสุดเกินสี่ร้อยบาทต่อหนึ่งเมตริก ให้ประกาศใหม่
           (3 สัตต) แร่หินอ่อนและแร่หินประดับชนิดหินแกรนิต
                     (ก) ราคาแร่หินอ่อนและแร่หินประดับชนิดหินแกรนิต ให้ประกาศเป็น ราคาต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร โดยให้ถือจากราคาถัวเฉลี่ยของมูลค่า ทั้งหมดของแหล่งแร่หินอ่อน หรือแร่หินประดับชนิดหินแกรนิต แล้วแต่กรณี ที่ได้จากการคำนวณตามขั้นตอนและวิธีการที่ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกำหนด
                     (ข) ทุก ๆ รอบปีประดิทิน ให้ประกาศราคาแร่หินอ่อนและแร่หิน ประดับชนิดหินแกรนิตใหม่
           (4) แร่ชนิดอื่น
               (ก) ราคาแร่ชนิดอื่น นอกจากที่ระบุใน (1) (2) และ (3) และแร่ที่มี กฎกระทรวงกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ประกาศเป็นราคาต่อหนึ่งเมตริกตัน ตามชนิดและสภาพของ แร่นั้น โดยให้ถือจากราคาถัวเฉลี่ยที่ซื้อขายกันในกรุงเทพฯ ครั้งหลังสุด
               (ข) สำหรับแร่ที่ผลิตขายเพื่ออุตสาหกรรม ประดิษฐกรรม หรือพลังงาน ภายในประเทศ นอกจากโลหกรรมให้ประกาศโดยให้ถือจากราคาถัวเฉลี่ยที่ซื้อภายในประเทศ ของผู้ใช้แร่ตามชนิดและสภาพของแร่นั้น
               (ค) เมื่อใดแร่ชนิดใดในสภาพใดที่ได้ประกาศราคาครั้งหลังสุดต่ำกว่า หนึ่งพันบาทต่อหนึ่งเมตริกตัน มีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากราคาที่ได้ประกาศไว้นั้นเกิน สามสิบบาทต่อหนึ่งเมตริกตัน ให้ประกาศใหม่
               (ง) เมื่อใดแร่ชนิดใดในสภาพใดที่ได้ประกาศราคาครั้งหลังสุด ตั้งแต่ หนึ่งพันบาทขึ้นไปจนถึงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งเมตริกตัน มีราคาเพิ่มขึ้นหรือ ลดลงจากราคาที่ได้ ประกาศไว้นั้นเกินห้าสิบบาทต่อหนึ่งเมตริกตัน ให้ประกาศใหม่
               (จ) เมื่อใดแร่ชนิดใดในสภาพใดที่ได้ประกาศราคาครั้งหลังสุดสูงกว่า หนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งเมตริกตัน มีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากราคาที่ได้ประกาศไว้นั้นเกินสี่ร้อยบาท ต่อหนึ่งเมตริกตัน ให้ประกาศใหม่
           ข้อ 3 การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อคำนวณราคาตลาด ของแร่ ให้กำหนดดังนี้
           (1) ในกรณีที่มีการกำหนดอัตราค่าเสมอภาคของบาท ให้ถืออัตราตามค่าเสมอภาค ของบาทเป็นเกณฑ์ในการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงิน เศษของหนึ่งสตางค์ให้ปัดทิ้ง
           (2) ในกรณีที่ไม่มีการกำหนดค่าเสมอภาคของบาท ให้ถืออัตรากลางซึ่งเป็น ค่าเฉลี่ยของอัตราซื้อและอัตราขายทันทีซึ่งเงินตราต่างประเทศสกุลนั้น ๆ ตามประกาศประจำวัน ของทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นเกณฑ์ในการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงิน
           ข้อ 4 วิธีการควบคุมการชำระค่าภาคหลวงแร่ ให้กำหนดดังนี้
           (1) การชำระค่าภาคหลวงแร่ดีบุก ให้เรียกเก็บตามส่วนเนื้อดีบุกที่แท้จริงโดย ถือตามผลวิเคราะห์ของกรมทรัพยากรธรณี หรือของโรงถลุง ดีบุก หรือสถาบันซึ่งกรมทรัพยากรธรณี เห็นชอบในการวิเคราะห์
           ในกรณีที่ยังมิได้ทำการวิเคราะห์แร่ดีบุก ให้ถือเกณฑ์ไว้ก่อนว่ามีเนื้อดีบุก เจ็ดสิบสองส่วนในร้อยส่วน เว้นแต่แร่ดีบุกรายใดที่กรมทรัพยากรธรณี ออกหนังสือรับรองว่ามีเนื้อดีบุกไม่เกินห้าสิบส่วนในร้อยส่วน หรือไม่เกินสามสิบห้าส่วนในร้อยส่วน ให้ถือเกณฑ์ ไว้ก่อนว่าแร่ดีบุกรายนั้น ๆ มีเนื้อดีบุกห้าสิบส่วนในร้อยส่วน หรือสามสิบห้าส่วนในร้อยส่วน แล้วแต่กรณี
           (2) การชำระค่าภาคหลวงแร่แทนทาไลท์และแร่โคลัมไบท์ที่รวมกันอยู่ ให้เรียกเก็บตามส่วนสารประกอบตันตาลัมเพนตอกไซด์ โดยถือตาม ผลวิเคราะห์ของกรมทรัพยากรธรณี หรือสถาบันซึ่งกรมทรัพยากรธรณีเห็นชอบในการวิเคราะห์
           ในกรณีที่ยังมิได้ทำการวิเคราะห์แร่แทนทาไลท์และแร่โคลัมไบท์ที่รวมกันอยู่ ให้ถือเกณฑ์ไว้ก่อนว่า มีสารประกอบตันตาลัมเพนตอกไซด์ไม่เกิน ยี่สิบส่วนในร้อยส่วน เว้นแต่แร่ดังกล่าวรายใดกรมทรัพยากรธรณีออกหนังสือรับรองว่ามีสารประกอบตันตาลัมเพนตอกไซด์ ไม่เกินยี่สิบส่วนในร้อยส่วน หรือไม่เกินสิบส่วนในร้อยส่วน ให้ถือเกณฑ์ไว้ก่อนว่าแร่รายนั้น ๆ มีสารประกอบตันตาลัมเพนตอกไซด์ยี่สิบส่วนในร้อยส่วน หรือสิบส่วนในร้อยส่วนแล้วแต่กรณี
           (3) การชำระค่าภาคหลวงตะกรันที่มีโคลัมเบียมเพนตอกไซด์ หรือ ตันตาลัมเพนตอกไซด์ หรือทั้งสองชนิดรวมกัน ให้เรียกเก็บตามราคาที่ กำหนดไว้ใน (ก) ของ ข้อ 2 (3 จัตวา) โดยถือตามผลวิเคราะห์สารประกอบตันตาลัมเพนตอกไซด์ของกรมทรัพยากรธรณี หรือสถาบัน ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีเห็นชอบในการวิเคราะห์
           ในกรณีที่ยังมิได้วิเคราะห์ตะกรันที่มีโคลัมเบียมเพนตอกไซด์ หรือ ตันตาลัมเพนตอกไซด์ หรือทั้งสองชนิดรวมกันอยู่ ให้ถือเกณฑ์ไว้ก่อน ว่ามีสารประกอบตันตาลัมเพนตอกไซด์สิบสามส่วนในร้อยส่วน เว้นแต่ตะกรันที่มีโคลัมเบียมเพนตอกไซด์หรือ ตันตาลัมเพนตอกไซด์ หรือทั้งสองชนิดรวมกันอยู่รายใดที่กรมทรัพยากรธรณีออกหนังสือรับรอง ว่ามีสารประกอบตันตาลัมเพนตอกไซด์ไม่เกินแปดส่วน ในร้อยส่วนหรือไม่เกินห้าส่วนในร้อยส่วน ให้ถือเกณฑ์ไว้ก่อนว่าตะกรันที่มีโคลัมเบียมเพนตอกไซด์หรือตันตาลัมเพนตอกไซด์หรือทั้งสอง ชนิดรวมกันอยู่รายนั้น ๆ มีสารประกอบตันตาลัมเพนตอกไซด์แปดส่วนในร้อยส่วน หรือ ห้าสิบส่วนในร้อยส่วน หรือห้าส่วนในร้อยส่วน แล้วแต่กรณี
           (4) การชำระค่าภาคหลวงแร่ตะกั่ว ให้เรียกเก็บตามส่วนเนื้อตะกั่วที่แท้จริง โดยถือตามผลวิเคราะห์ของกรมทรัพยากรธรณี หรือสถาบัน ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีเห็นชอบในการวิเคราะห์
           ในกรณีที่ยังมิได้ทำการวิเคราะห์แร่ตะกั่ว ให้ถือเกณฑ์ไว้ก่อนว่ามีเนื้อตะกั่ว แปดสิบส่วนในร้อยส่วน เว้นแต่แร่ตะกั่วรายใดที่กรมทรัพยากรธรณี ออกหนังสือรับรองว่ามี เนื้อตะกั่วไม่เกินหกสิบห้าส่วนในร้อยส่วน หรือไม่เกินห้าสิบส่วนในร้อยส่วน หรือไม่เกินสามสิบห้าส่วนในร้อยส่วน ให้ถือเกณฑ์ไว้ก่อนว่าแร่ตะกั่วรายนั้น ๆ มีเนื้อตะกั่วหกสิบห้าส่วน ในร้อยส่วน หรือสามสิบห้าส่วนในร้อยส่วน แล้วแต่กรณี
           (5) การชำระค่าภาคหลวงแร่สังกะสี ให้เรียกเก็บตามส่วนเนื้อสังกะสีที่แท้จริง โดยถือตามผลวิเคราะห์ของกรมทรัพยากรธรณี หรือสถาบัน ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีเห็นชอบในการวิเคราะห์
          ในกรณีที่ยังมิได้ทำการวิเคราะห์แร่สังกะสีให้ถือเกณฑ์ไว้ก่อนว่ามีเนื้อสังกะสีห้าสิบส่วนในร้อยส่วน เว้นแต่แร่สังกะสีรายใดที่กรมทรัพยากรธรณี ออกหนังสือรับรองว่ามี เนื้อสังกะสีไม่เกินสี่สิบส่วนในร้อยส่วน หรือไม่เกินสามสิบ ส่วนในร้อยส่วน ให้ถือเกณฑ์ไว้ ก่อนว่าแร่สังกะสีรายนั้นๆ มีเนื้อสังกะสีสี่สิบส่วนในร้อยส่วนหรือสามสิบส่วนในร้อยส่วน แล้วแต่กรณี
           (6) การชำระค่าภาคหลวงแร่ทองคำ ให้เรียกเก็บตามส่วนเนื้อของทองคำบริสุทธิ์ โดยถือตามผลวิเคราะห์ ของกรมทรัพยากรธรณีหรือ สถาบันซึ่งกรมทรัพยากรธรณีเห็นชอบในการวิเคราะห์
           ในกรณีที่ยังมิได้ทำการวิเคราะห์แร่ทองคำ ให้ถือเกณฑ์ไว้ก่อนว่ามีเนื้อทองคำ บริสุทธิ์แปดสิบส่วนในร้อยส่วน เว้นแต่แร่ทองคำรายใดที่ กรมทรัพยากรธรณีออกหนังสือ รับรองว่ามีเนื้อทองคำบริสุทธิ์ไม่เกินห้าสิบส่วนในร้อยส่วน ให้ถือเกณฑ์ไว้ก่อนว่าแร่ทองคำรายนั้น ๆ มีเนื้อทองคำบริสุทธิ์ห้าสิบส่วนในร้อยส่วน
           (7) การชำระค่าภาคหลวงแร่หินอ่อนหรือแร่หินประดับชนิดหินแกรนิต ให้ เรียกเก็บตามปริมาณแร่ หิน ดิน ทราย ที่ผู้ถือประทานบัตรพึงจะได้ จากการทำเหมืองในรอบระยะเวลาหกเดือนที่ผู้ถือประทานบัตรแสดงความจำนงว่าจะทำเหมือง
           การเรียกเก็บค่าภาคหลวงแร่หินอ่อน หรือแร่หินประดับชนิดหินแกรนิต ให้ เรียกเก็บล่วงหน้าก่อนการทำเหมืองเป็นรายปี ปีละสองงวด โดยให้ชำระงวดที่หนึ่งภายในวันที่ 31 มกราคม และชำระงวดที่สองภายในวันที่ 31 กรกฎาคมของปีนั้น
           การแสดงความจำนงว่าจะทำเหมืองตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นหนังสือแสดงเขต ที่จะทำเหมืองและปริมาณของแร่ หิน ดิน ทราย ที่พึงจะได้จากการทำเหมืองในรอบระยะเวลาหกเดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคาของปีนั้น โดยยื่นต่อทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ในเวลาชำระ ค่าภาคหลวงแร่แต่ละงวด
           ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าในรอบระยะเวลาหกเดือนที่ผู้ถือประทานบัตรแสดง ความจำนงไว้ ผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองได้ปริมาณของแร่ หิน ดิน ทราย เพิ่มขึ้นหรือลดลง จากที่แสดงความจำนงไว้ ให้เรียกเก็บค่าภาคหลวงแร่เพิ่มหรือคืนค่าภาคหลวงแร่ตามส่วนของปริมาณที่
เพิ่มขึ้น หรือลดลง แล้วแต่กรณี

                                     ให้ไว้ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2514

                                   ลงชื่อ           พจน์ สารสิน
                                     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ