ข้อมูลคำชี้แจงโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี 
กพร. ได้พิจารณาประเด็นข้อสงสัยของราษฎรกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี ดังกล่าวแล้ว ขอเรียนชี้แจง ดังนี้ 
1.ประเด็นคำถามเรื่องพื้นที่เขตเหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ที่ปรากฎตามเอกสารการยื่นคำขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัท APPC ซึ่งมีเนื้อที่ 22,437 ไร่ เป็นพื้นที่เดียวกับพื้นที่ที่ปรากฏตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือไม่อย่างไร 
คำชี้แจง ประเด็นเรื่องเขตเหมืองแร่ในการยื่นคำขอประทานบัตรตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 กับเขตพื้นที่เหมืองแร่ที่ปรากฏในการทำรายงาน EIA เป็นพื้นที่เดียวกันหรือไม่อย่างไรนั้น สามารถชี้แจงได้ว่า บริษัท APPC ได้ยื่นรายงาน EIA ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้อยู่ในพื้นที่บริษัทAPPC มีความประสงค์จะขอทำเหมืองตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ในหลักการพื้นที่เขตเหมืองแร่ที่ปรากฏในรายงาน EIA จะต้องครอบคลุมเขตเหมืองแร่ที่ได้ผ่านกระบวนการกำหนดขึ้น ตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้การทำรังวัดกำหนดเขตเหมืองแร่ตามการยื่นคำขอประทานบัตรของบริษัท APPC ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้ว่าเขตแร่ตามขั้นตอนการขอประทานบัตรของบริษัท APPC มีจำนวนเท่าใดและมีรายละเอียดอย่างใด สำหรับพื้นที่ที่ใช้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหมืองแร่โปแตชในแต่ละด้านจะมีขนาดเท่าใดจึงมีความเหมาะสมนั้น ผู้พิจารณาคือคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA ด้านโครงการเหมืองแร่ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่เฉพาะเขตเหมืองแร่เท่านั้น 
2.ประเด็นคำถามเรื่องการการกำหนดเขตพื้นที่เหมืองแร่และการกำหนดเขตพื้นที่ ที่จัดทำรายงาน EIA จะต้องดำเนินการอย่างใดก่อนและครอบคลุมพื้นที่เท่าใด 
คำชี้แจง ขั้นตอนในการจัดทำรายงาน EIA ของผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยหลักวิชาการแล้วการจัดทำรายงาน EIA ของโครงการพัฒนา และโครงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีขนาดใหญ่ สมควรจัดทำและศึกษารายงาน EIA ไปพร้อมกับการจัดทำรายละเอียดของโครงการ เพื่อปรับแก้ไขโครงการให้มีความเหมาะสมทั้งทางด้านการลงทุนและการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการกำหนดเขตพื้นที่เหมืองแร่และเขตพื้นที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงาน EIA ของโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรใต้ได้ใช้เขตเหมืองแร่ตามที่บริษัท APPC ประสงค์จะยื่นขอทำเหมือง และการให้ความเห็นชอบกับรายงาน EIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA ด้านโครงการเหมืองแร่ได้กำหนดให้บริษัทเสนอรายละเอียดพื้นที่คำขอประทานบัตรตามขั้นตอน พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 และแผนผังโครงการทำเหมืองและกิจกรรมต่อเนื่องที่ได้ศึกษาจัดทำแลรับรองจากทางราชการแล้วเสนอคณะกรรมการผู้ชาญการฯ เพื่อปรับปรุงทบทวนมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมและรัดกุมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หากรายละเอียดของพื้นที่เขตเหมืองแร่และการดำเนินการทำเหมืองและกิจกรรมต่อเนื่องเปลี่ยนแปลงไปจากที่เสนอไว้ในรายงาน EIA ก็อาจจำเป็นให้บริษัท APPC ต้องศึกษาข้อมูลและศึกษาทบทวนผลกระทบและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม 
3.ประเด็นคำถามเรื่องเหตุใดรายงาน EIA ของโครงการเหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ซึ่งยังมิได้มีการกำหนดพื้นที่เขตเหมืองแร่ จึงสามารถผ่านความเห็นชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
คำชี้แจง การให้ความเห็นชอบรายงาน EIA เหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ ที่ผ่านมานั้นเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดให้ยื่นรายงาน EIA ขั้นตอนการก่อนการอนุญาตประทานบัตร ผู้สงสัยในเรื่องดังกล่าวสมารถสอบถามรายละเอียดจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรง 
อนึ่ง กพร. ขอเรียนว่าที่ผ่านมาได้จัดส่งข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 และขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน พร้อมทั้งได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเข้าร่วมกับจังหวัดอุดรธานีเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้สนใจเรื่อยมาโดยตลอด 
 ข้อมูลคำชี้แจงโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ (17 ธันวาคม 2547) 
1.ประเด็นคำถามเรื่องขั้นตอนและระยะเวลาของกระบวนการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัดอุดรธานี 
พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ส่วนที่ว่าด้วยการทำเหมืองแร่ใต้ดิน ได้กำหนดแนวทางในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โครงการทั้งในช่วงก่อนการยื่นคำขออนุญาตประทานบัตรและในช่วงระหว่างการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรโดยในขั้นตอนก่อนการยื่นคำขออนุญาตประทานบัตรในมาตรา 88/9 ตามพระราชบัญญัติแร่ดังกล่าวได้ให้โอกาสผู้ประสงค์จะยื่นคำขออนุญาตประทานบัตรสามารถร้องขอต่อ กพร. เพื่อจัดให้มีการประชุมหารือเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่โครงการได้ โดยในการประชุมดังกล่าวผู้ประสงค์จะยื่นคำขอประทานบัตรสามารถนำข้อมูลเบื้องต้น ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเผยแพร่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ และหากมีคำถามหรือข้อสงสัยก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ยื่นคำขอประทานบัตรได้ชี้แจงทำความเข้าใจและนำข้อสังเกตต่าง ๆ ไปใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำรายละเอียดโครงการประกอบการยื่นคำขอประทานบัตรต่อ กพร. ต่อไป ซึ่งกระบวนการจัดให้มีการประชุมดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 140 วัน นับแต่ผู้ประสงค์ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินแจ้งความประสงค์จะให้มีการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นต่อ อพร. ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท APPC ไม่ได้แสดงความประสงค์ที่จะดำเนินการในส่วนนี้ 
นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรในมาตรา 88/7 และมาตรา 88/10 ตามพระราชบัญญัติแร่ดังกล่าวยังกำหนดให้ ฯพณฯ รวอ. นำรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดิน และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายแล้วเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย โดย อก. เป็นผู้ดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ โดยความเห็นที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้จะนำไปเพิ่มเติมไว้เป็นเงื่อนไขท้ายการอนุญาตประทานบัตร ที่ผู้ได้รับอนุญาตประทานบัตรต้องนำไปปฏิบัติ ซึ่งความคืบหน้าการขออนุญาตประทานบัตรของบริษัท APPC จนถึงปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นตอนนี้ 
อย่างไรก็ตาม กพร. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โครงการ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่โครงการอย่างต่อเนื่องและขณะเดียวกันก็ได้ร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดอุดรธานีจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดินแก่ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเป็นระยะ โดยได้เผยแพร่ความรู้ทั้งหมดไว้ใน www.dpim.go.th ด้วย 
2.ประเด็นคำถามเรื่องการจ่ายค่าชดใช้ให้แก่ประชาชนที่คัดค้านในพื้นที่โครงการ 
โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี เป็นโครงการทำเหมืองแร่ใต้ดินขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 2 หมื่นไร่และมีผู้มีส่วนได้เสียจากการดำเนินโครงการจำนวนมาก ในหลักการผู้ยื่นคำขอประทานบัตรจึงมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่โครงการเพื่อให้เกิดการยอมรับและเข้าใจในประโยชน์ที่จะได้รับ อีกทั้งในทางปฏิบัติผู้ได้รับประทานบัตรจะต้องอยู่ร่วมกับประชาชนในพื้นที่โครงการเป็นระยะเวลานาน การเข้าถึงและเข้าใจประชาชนจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ซึ่งหากเป็นไปตามแนวทางดังกล่าวการจ่ายค่าชดใช้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามให้แก่ประชาชนไม่ใช่เป็นประเด็นสำคัญการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนในพื้นที่โครงการต่างหากเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักและต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ 
3.ประเด็นคำถามเรื่องการจัดทำประชาพิจารณ์ 
พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 88/7 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเห็นชอบตามกฏหมายแล้วและข้อมูลตามมาตรา 88/6 ของพระราชบัญญัติแร่ ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียตามรายละเอียดหลักเกณฑ์ของทางราชการต่อไป 
4.ประเด็นคำถามเรื่องความเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเกี่ยวกับโครงการ 
ที่ผ่านมาจังหวัดอุดรธานีโดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และ กพร. ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งในเรื่องการปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 การเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้สนใจ ซี่งการดำเนินงานทั้งหมดที่ผ่านมาอยู่ภายใต้หลักการที่มุ่งพัฒนาส่งเสริมการนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นและขณะเดียวกันการดำเนินงานดังกล่าวจะต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่โครงการและสามารถรักษาดุลยภาพกับสิ่งแวดล้อมได้ด้วย