โครงการฝึกอบรมหลักสูตร
"การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม"
16 มกราคม 2549
ณ ห้องประชุม ชั้น 1 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 

 ไฟล์...แนวทางการพัฒนาโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรม>> Click ที่นี่
 โลจิสติกส์. . . เพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลก 
 “โลจิสติกส์...คืออะไร” 
คงมีหลายคนที่ไม่เคยได้ยินคำว่าโลจิสติกส์และไม่ทราบถึงความหมายและความสำคัญ หรืออาจมีหลายคนเคยได้ยินมาบ้างแล้รู้ว่าขณะนี้ภาครัฐให้ความสำคัญในการจัดการระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย แต่ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวพันกับภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีกระบวนการในการดำเนินงานอย่างไร 
ท่านจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้การบรรยายพิเศษเรื่องแนวทางการพัฒนาโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรม เนื่องในโอกาสกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จักการฝึกอบรมหลักสูตร “การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรม” เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 
โลจิสติกส์ หมายถึง การจัดการการเคลื่อนย้ายของสินค้า บริการ ข้อมูล และการเงินระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยต้องมีการวางแผน การปฏิบัติ และการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ (แปลจาก Council of Logistics Management) โดยมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องได้แก่ การขนส่ง การบริหารสินค้าคงคลัง การสั่งซื้อ การบริหารข้อมูล การบริหารการเงิน ซึ่งเป็นกิจกรรมหลัก ส่วนกิจกรรมเสริมจะได้แก่ การบริหารคลังสินค้า การด๔แลสินค้า การจัดซื้อ การบรรจุหีบห่อ การบริหารหีบห่อ การบริหารอุปสงค์ ดังนั้น โลจิสติกส์จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีการได้เปรียบเชิงต้นทุนในการผลิตและการบริการอันจะส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพด้านความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดส่งออก นอกจากนี้ยังเป็นกลไกสำคัญในการสร้างมูลค่า ซึ่งทำให้เกิดศักยภาพด้านเวลาและสถานที่ ช่วยลดการติดขัดและส่งผลให้ใช้พลังงานอย่างคุ้มค้ายิ่งขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ที่ดีเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการ 
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่า เมื่อเปรียบเทียบในแง่ของ Performance ต้นทุนโลจิสติกส์ (เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2545) ของไทยยังสูงอยู่ คือ อยู่ที่ร้อยละ 19 ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เช่น ญี่ปุ่นร้อยละ 11 สหรัฐอเมริการ้อยละ 10 และสิงคโปร์ร้อยละ 8 ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาด้านต่างๆ อาทิ กฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร เทคโนโลยีและฐานข้อมูล และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ไม่เอื้ออำนวยล้วนส่งผลต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย ภาครัฐซึ่งเล็งเห็นความสำคัญและปัญหาของระบบโลจิสติกส์ จึงมีนโยบายในการจัดการระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและบริหารในภูมิภาคอินโดจีน เพื่อบรรลุเป้าหมายประเทศไทยต้องพัฒนาให้เกิดการลดต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า (Non-Value Added Cost) ความสามารถในการรับรองเวลาและคุณภาพของสินค้าและบริการ ตลอดจนความสามารถในการตอบสนองความจ้องการของลูกค้าได้ทันเวลา 
สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ดำเนินการพัฒนาจัดการระบบโลจิสติกส์เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลกอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในแผนปฏิบัติการยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์แก่ภาคอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น และต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมลดลง ซึ่งแนวทางในการดำเนินงานจะได้แก่ การจัดทำแผนแม่บทการนำระบบโลจิสติกส์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม แล้วจึงถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำร่องสู่ภาคอุตสาหกรรมและในอนาคตจะจัดทำมาตรฐานผู้ประกอบการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมต่อไป 
Presentation เรื่อง “แนวทางการพัฒนาโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรม” โดย นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม..... โปรดคลิก Download ไฟล์ด้านบน

 
 บรรยากาศการสัมมนา 
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการฝึกอบรม และบรรยายพิเศษ เรื่อง "แนวทางการพัฒนาโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรม" 
นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้เกียรติกล่าวรายการ 
ศ.ดร.ฐาปนา บุญหล้า บริษัท แอดว้านซ์ บิซิเนส ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "โลจิสติกส์กับอุตสาหกรรมไทย" 
นายอภิชัย อินต๊ะแก้ว บริษัท ค้าวัสดุซิเมนต์ไทย จำกัด ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "การบริหารโลจิสติกส์ภาคเอกชน กรณีตัวอย่างของซิเมนต์ไทยโลจิสติกส์"