นายมณฑป วัลยะเพ็ชร์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และคณะผู้แทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้พบปะหารือ แลกเปลี่ยนความเห็น และดูงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของนครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2551 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือของทั้งสองประเทศ |
นครเซี่ยงไฮ้จัดเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับการขนานนามว่าเป็น นิวยอร์กแห่งตะวันออก ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง เป็นเขตการปกครองระดับเขตการปกครองพิเศษแบบเทศบาลนคร ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากับมณฑล มีท่าเรือที่มีจำนวนเรือคับคั่งที่สุดในโลก ตามมาด้วยสิงคโปร์และร็อตเตอร์ดัม ในอดีตเซี่ยงไฮ้เป็นแค่หมู่บ้านชาวประมง พัฒนาจนเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญ อาทิ เหล็ก อุปกรณ์สื่อสาร ยานยนต์ ปิโตรเคมี และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ในปัจจุบันเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การค้า การขนส่ง การสื่อสาร การลงทุน จึงมีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมากที่สุดในจีน ประมาณ 15 ล้านคน นอกจากนี้ด้วยวิสัยทัศน์ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบที่ชัดเจน รัฐบาลจีนได้ลงทุนสร้างความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ นครเซี่ยงไฮ้จึงเป็นต้นแบบการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ มีการจัดวางโครงสร้างอย่างเป็นระบบและนำเทคโนโลยีสารสนเทศโลจิสติกส์ที่ใช้ระบบซอฟท์แวร์สำหรับการจัดการ (Solution) มาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งปัจจัยพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคตมีอาทิ
|
ท่าเรือน้ำลึกหยางชาง (Yangshan Deep Water Port) เป็นท่าเรือที่สร้างโดยการถมที่ในอ่าวฮังโจว (Hangzhou Bay) เนื่องจากร่องน้ำตามแนวแผ่นดินใหญ่มีความลึกไม่เพียงพอสำหรับเรือขนาดใหญ่ รัฐบาลจีนจึงได้สร้างท่าเรือน้ำลึกห่างจากชายฝั่งตอนใต้ของเซี่ยงไฮ้ เชื่อมต่อด้วยสะพานระยะทาง 32.5 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังเป็นการขยายศักยภาพในการรองรับเรือสินค้าของเซี่ยงไฮ้ที่ปัจจุบันสามารถรองรับปริมาณเรือสินค้า (Freight Handle) ได้กว่า 500 ล้านตัน หรือประมาณ 22 ล้านทีอียู (TEUs: Twenty-Foot Equivalent Units) ซึ่งท่าเรือที่สำคัญ ได้แก่ Wusongkou Port และ Waigaoqiao Port เต็มความสามารถในการรองรับการขนส่งสินค้า (Port Capacity) ท่าเรือน้ำลึกหยางชางเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 เมื่อเสร็จสิ้นโครงการในปี 2555 จะสามารถรองรับปริมาณเรือสินค้าได้ถึง 14.7 ล้านทีอียู ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ
|
Lingang New City ด้วยแนวคิดในการพัฒนาเมืองใหม่ที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสอดรับกับการเติบโตของประเทศ Lingang New City ได้รับการพัฒนาในฝั่งพื้นที่ชายฝั่งทะเลท่าเรือน้ำลึกหยางชาง มีทำเลเหมาะสมกับการเป็น Logistics Park โดยอยู่ใกล้ทางด่วนสายหลัก มีระบบขนส่งทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ภายในเมืองจะมีศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center: DC) ของท่าเรือหยางชาน นอกจากนี้ยังประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรม ศูนย์อากาศยาน (International Airport Hub) และศูนย์อุตสาหกรรม (The National-Grade Equipment and Manufacturing Park) การออกแบบผังเมืองมีลักษณะเป็นวงแหวง 4 วง โครงสร้างถนนและวงแหวนของเมืองขยายจากแกนกึ่งกลางออกสู่ภายนอก เรียกว่า หนึ่งศูนย์กลางสี่วงแหวน หรือ One Center and Four Urban Rings ประกอบด้วย |
วงแหวนแรก (Urban Center) ประกอบด้วยสำนักงาน สถานบันเทิง ย่านชอปปิ้ง และโรงแรม
วงแหวนที่ 2 (City Park Ring) เป็นถนนสายหลักประกอบด้วยสวนสาธารณะ แม่น้ำและทะเลสาบสายเล็กๆ นอกจากนี้ยังมีส่วนของที่พักอาศัยที่มีราคาสูง
วงแหวนที่ 3 (Main Community) เป็นแหล่งชุมชนสำหรับพักอาศัย
วงแหวนที่ 4 (Sub Center Community) เป็นส่วนขยายของวงแหวนที่ 3 ซึ่งจะประกอบไปด้วย ชุมชน โรงเรียน และบริการสาธารณะอื่นๆ |
Lingang New City จัดเตรียมปัจจัยพื้นฐานครบครันเพื่อชักนำให้ผู้ผลิตขนาดใหญ่ลงทุน แล้วคู่ค้าทั้งซัพพลายเออร์ เทรดเดอร์ หรือผู้ให้บริการต่างๆ ตลอดโซ่อุปทาน จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ส่งผลดีต่อการใช้โลจิสติกส์เชื่อมโยงกันทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ
|
นอกจากนี้ ยังได้พบปะหารือกับ Mr.Zhu Junsheng, Vice President, Baoshan Iron & Steel Co., Ltd. ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของจีน เป็นลำดับที่ 5 ของโลก รองจาก Arcelor Mittal (อินเดีย) Nippon Steel (ญี่ปุ่น) JFE (ญี่ปุ่น) และ POSCO (เกาหลีใต้) กรณีการจัดการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากจีนมีการผลิตเหล็กมากที่สุดในโลก อาศัยสินแร่นำเข้าเป็นวัตถุดิบหลัก ดังเช่น Baosteel ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเซี่ยงไฮ้ ปากแม่น้ำแยงซีเกียง ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น ท่อไร้ตะเข็บ ในปี 2550 ผลิตผลิตภัณฑ์สูงถึง 15 ล้านตัน ป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ต่อเรือ ท่อ เครื่องใช้และสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งในประเทศและส่งออกกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ต้องใช้วัตถุดิบหลักซึ่งได้แก่สินแร่เหล็กนำเข้าจำนวนมาก โดยร้อยละ 50 นำเข้าจากออสเตรเลีย และร้อยละ 35 จากบราซิล ในอาณาเขตของ Baosteel จึงมีทั้งท่าเรือ โรงงาน คลังวัตถุดิบและสินค้า เพื่อการจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพทั้ง 3 ขั้นตอน คือ Inbound logistics, In-process Logistics และ Outbound Logistics
|
โดยภาพรวมแล้วเป็นที่น่าสังเกตได้ว่าจีนสามารถพัฒนาประเทศได้เท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะเน้นการพัฒนาทั้งระบบที่ชัดเจน สร้างความพร้อมของปัจจัยพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และบุคลากรให้สอดคล้องกับการขยายตัวของประเทศ โดยไม่ละเว้นด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะจีนได้ประจักษ์แล้วว่าการเป็นผู้นำด้านการผลิตต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษตามมาดังเช่นประสบเมื่อช่วงแรกที่จีนมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง |