นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อหาแนวทางส่งเสริมพัฒนาการใช้ประโยชน์ยิปซัมสังเคราะห์ซึ่งเป็นผลผลิตพลอยได้ที่เกิดจากกระบวนการดีซัลเฟอร์ไรเซชั่นของควันก๊าซจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 ณ ห้องประชุม 201 อาคารสำนักผู้ว่า (ท.100) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี |
จากการที่ในแต่ละปีกระบวนการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์จากการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหิน หรือที่เรียกว่ากระบวนการดีซัลเฟอร์ไรเซชั่นของควันก๊าซ (Flue Gas Desulfurization Gypsum) จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ทำให้เกิดผลผลิตพลอยได้เป็นยิปซัมสังเคราะห์ปีละมากกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งจากการทดลองในเบื้องต้น พบว่ายิปซัมสังเคราะห์น่าจะสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรได้อย่างหลากหลาย เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมยิปซัมบอร์ด อุตสาหกรรมผลิตเบียร์ ใช้ในงานด้านทันตกรรม และใช้ในการปรับปรุงคุณภาพดิน เป็นต้น ดังนั้น หากมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาอย่างเหมาะสมจะสามารถนำยิปซัมสังเคราะห์ มาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมของประเทศได้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดำเนินการหาแนวทางส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากผลผลิตพลอยได้ดังกล่าว |
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันศึกษาวิจัยพัฒนาหาแนวทางการใช้ประโยชน์ยิปซัมสังเคราะห์ นำเสนอนโยบายและมาตรการเพื่อจูงใจให้มีการใช้ยิปซัมสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบในการผลิต และจะผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาให้มีการนำยิปซัมสังเคราะห์มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแล้ว ยังเป็นการช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการผลิตกระแสไฟฟ้า และช่วยลดปริมาณการใช้ทรัพยากรแร่ยิปซัมจากธรรมชาติ รวมทั้งสามารถผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ได้อีกทางหนึ่ง |
บรรยากาศพิธีลงนาม
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|