|
รายงานของสถิติแร่ของประเทศไทย ปี 2014 - 2018 (2557 - 2561) โดยนำเสนอสถิติเรียงลำดับตามตัวอักษรของชนิดแร่
ประกอบด้วยสถิติของ
- ผลผลิตแร่ แยกตามภาคและจังหวัด
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและลดลงในเวลาถัดมา โดยในปี 2558 มีมูลค่าการผลิต 63,630.3 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 เล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 0.9 และเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2559 มีมูลค่าการผลิตทั้งสิ้น 87,746.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37.9 แต่ลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2560 และ 2561 อยู่ที่ 77,206.6 และ 76,947.1 ล้านบาท ลดลงไปร้อยละ 12.0 และ 0.3 ตามลำดับ โดยในปี 2561 กลุ่มหินอุตสาหกรรม (Industrial Rock) เป็นกลุ่มแร่หลักที่มีมูลค่าการผลิตมากที่สุด มีมูลค่าอยู่ที่ 25,730.2 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ กลุ่มแร่อุตสาหกรรมซีเมนต์ (Cement Industrial Minerals) และกลุ่มแร่อุตสาหกรรมอื่นๆ (Other Industrial Minerals) มีมูลค่าอยู่ที่ 24,953.6 และ 6,716.8 ล้านบาท โดยมูลค่าดังกล่าวสอดคล้องกับปริมาณการใช้ ในส่วนของหินปูน (Limstone) เป็นแร่ที่มีมูลค่าการผลิตสูงที่สุด ทั้งในกลุ่มหินอุตสาหกรรมที่ 19,265.5 ล้านบาท และในกลุ่มแร่อุตสาหกรรมซีเมนต์ที่ 16,075.6 ล้านบาท
- การส่งออก แยกตามทวีปและประเทศที่ส่งออก
มีการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากันในแต่ละปี โดยในปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 17,436.0 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 มากถึงร้อยละ 29.6 ถัดมาในปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 20,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 และกลับมาลดลงอีกครั้งในปี 2560 อยู่ที่ 12,878.8 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกต่ำสุดลดลงในรอบ 5 ปี ลดลงจากปีก่อนถึงร้อยละ 36.1 และในปี 2561 การส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 12,895 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 โดยกลุ่มแร่โลหะพื้นฐาน (Base Metals) เป็นกลุ่มแร่หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด รองลงมาได้แก่ กลุ่มแร่อุตสาหกรรมซีเมนต์ (Cement Industrial Minerals) และกลุ่มแร่อุตสาหกรรมเซรามิค (Ceramic Industrial Minerals)
- การใช้แร่
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงแรกและลดลงในเวลาถัดมา โดยในปี 2558 มีมูลค่าการใช้ 54,352.6 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2557 ร้อยละ 2.2 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2559 มีมูลค่าการใช้ทั้งสิ้น 78,051.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43.1 แต่ลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2560 และ 2561 อยู่ที่ 76,992.9 และ 70,860.1 ล้านบาท ลดลงไปร้อยละ 1.4 และ 8.0 ตามลำดับ โดยในปี 2561 กลุ่มหินอุตสาหกรรม (Industrial Rock) เป็นกลุ่มแร่หลักที่มีมูลค่าการใช้มากที่สุด รองลงมาได้แก่ กลุ่มแร่อุตสาหกรรมซีเมนต์ (Cement Industrial Minerals) และกลุ่มแร่อุตสาหกรรมอื่นๆ (Other Industrial Minerals) โดยมีข้อสังเกตคือ กลุ่มหินอุตสาหกรรมในปี 2561 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึงร้อยละ 4.5 ซึ่งตรงข้ามกับปริมาณการใช้รวมที่ลดลง
- การนำเข้าแร่
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในช่วง 2 ปีแรกลดลงต่อเนื่อง ในปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 61,977.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.3 และลดลงต่ำสุดในปี 2559 มูลค่า 57,874.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.6 แต่ในปีถัดมา การนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 และ 2561 มีมูลค่าการนำเข้า 66,110.0 และ 72,819.79 ล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 14.2 และ 10.1 ตามลำดับ โดยกลุ่มแร่เชื้อเพลิง (Mineral Fuels and Energy) เป็นกลุ่มแร่หลักที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงที่สุดและต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตพลังงานที่จำเป็นต่อการผลิตไฟฟ้าและพลังงานในภาคอุตสาหกรรม รองลงมาได้แก่ กลุ่มแร่โลหะพื้นฐาน (Base Metals) และกลุ่มแร่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ (Other Industrial Minerals)
- จำนวนคนงาน
แม้ว่าปี 2557 ถึงปี 2560 จะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่ปี 2561 มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย จาก 12,649 คน มาเป็น 12,993 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.72
- จำนวนเหมืองแร่
ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2558 จำนวน 585 เหมือง จำนวนเหมืองเปิดการลดลงมาตลอดถึงปี 2561 ที่จำนวน 569 554 และ 546 ตามลำดับ
- ค่าภาคหลวงแร่
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและลดลงในเวลาถัดมา โดยในปี 2558 สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงได้ 3,04 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 3.6 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2559 สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงได้ 4.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48.1 แต่ลดลงในปี 2560 และ 2561 อยู่ที่ 3.84 และ 3.79 ล้านบาท ลดลงไปร้อยละ 14.8 และ 1.3 ตามลำดับ โดยสาเหตุจากการระงับการประกอบกิจการโลหะทองคำและเงินตั้งแต่ปี 2560 ยังมีผลต่อเนื่องมายังปัจจุบัน และมีความสอดคล้องกับปริมาณการผลิตแร่อื่น ๆ ที่ลดลงเป็นส่วนใหญ่ โดยแร่ที่สามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงได้มากที่สุด ได้แก่ หินปูน (Limestone) ลิกไนต์ (Lignite) ยิปซัม (Gypsum) แบไรท์ (Barite) และเกลือหิน (Rock salt) ค่าภาคหลวงจากแร่ทั้ง 5 ชนิดนี้มีมูลค่ารวมกันถึง 3.16 ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 83.34 ของค่าภาคหลวงแร่ที่จัดเก็บได้ทั้งหมด |
|
|