1. สรุปสาระสำคัญตามบทบัญญัติ
|
1.1 การแต่งแร่ คือ การกระทำอย่างใด ๆ เพื่อทำให้แร่สะอาด หรือเพื่อให้แร่ที่ปนกันอยู่ ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปแยกออกจากกัน และหมายความรวมตลอดถึงบดแร่หรือคัดขนาดแร่
1.2 การแต่งแร่จะกระทำได้เมื่อรับใบอนุญาตจากอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ประจำท้องที่
1.3 ใบอนุญาตมีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาต แต่ไม่เกินสามปี และจะต่ออายุได้ครั้งละไม่เกินสามปี
1.4 อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตแต่งแร่ได้ เมื่อปรากฎว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแร่หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต
1.5 ผู้รับใบอนุญาตที่ถูกสั่งเพิกถอน มีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยยื่นต่ออุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ประจำท้องที่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันถูกสั่งเพิกถอน คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
1.6 ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะขอรับอนุญาตอีกไม่ได้ จนกว่าจะพ้นสองปี นับแต่วันถูกเพิกถอนใบอนุญาต
|
2. หลักเกณฑ์และวิธีการขอรับใบอนุญาต
|
2.1 บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นผู้ขอรับใบอนุญาตแต่งแร่
2.2 ผู้ขอต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่
2.3 ผู้ขอต้องยื่นคำขอตามแบบคำขอ 25 และแนบเอกสารดังต่อไปนี้พร้อมกับคำขอ
2.3.1 สำเนาทะเบียนบ้าน
2.3.2 สำเนาบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท และหนังสือแสดงการจดทะเบียนนิติบุคคล
2.3.3 สำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งแสดงรายชื่อกรรมการและผู้มีอำนาจลงนาม
2.3.4 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทรับรอง
2.3.5 แผนที่แสดงเขตที่จะขอให้เป็นเขตแต่งแร่
2.3.6 แผนผังและกรรมวิธีแต่งแร่
2.3.7 สำเนาหลักฐานการมีสิทธิ์ใช้สถานที่ในกรณีที่ดินที่จะใช้เป็นเขตแต่งแร่ไม่ใช่เป็นของผู้ขอรับอนุญาต
2.3.8 หนังสือมอบอำนาจที่ทำตามแบบที่อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกำหนด กรณีที่ได้มอบหมายให้บุคคลอื่นยื่นคำขอแทน
2.4 ผู้ขอต้องยื่นคำขอต่ออุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ประจำท้องที่
|
3. การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
|
เมื่อผู้ขอยื่นคำขอแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบดังนี้ |
3.1 มีการกรอกข้อความถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่
3.2 มีการแนบเอกสารที่กำหนดให้ส่งพร้อมกับคำขอ หรือไม่
3.3 ผู้ขอมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือไม่
|
หากตรวจสอบแล้วไม่ถูกต้อง ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอแก้ไขเพิ่มเติม |
4. การรับคำขอ
|
เมื่อตรวจสอบคำขอ ถูกต้อง ครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการ ดังนี้ |
4.1 ลงรับคำขอในทะเบียนรับหนังสือทั่วไป
4.2 เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ดังนี้
- ค่าคำขอ ฉบับละ 20 บาท
- ค่าใบอนุญาต ฉบับละ 1,000 บาท
4.3 เมื่อเจ้าหน้าที่เก็บเงินค่าธรรมเนียมเสร็จแล้ว จะเสนอคำขอต่ออุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ประจำท้องที่ เพื่อรับจดทะเบียนคำขอไว้ดำเนินการ
|
5. การดำเนินการออกใบอนุญาต
|
5.1 เมื่ออุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ประจำท้องที่รับจดทะเบียนคำขอแล้ว จะดำเนินการดังนี้
5.1.1 นัดผู้ขอตรวจสอบ
- สภาพที่ดินที่ขอเป็นเขตแต่งแร่
- ผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียง
-
5.1.2 สั่งให้มีการรังวัดที่ดินที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
- ที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน แต่ที่ดินตามโฉนดนั้นมีจำนวนมากเกินความจำเป็นที่จะใช้เป็นเขตแต่งแร่
- ที่ดินของรัฐทุกกรณี
5.2 ลักษณะคำขอรับใบอนุญาตแต่งแร่ที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้ คือ
5.2.1 คำขอที่มีเขตแต่งแร่ภายในเขตแต่งแร่หรือเขตโลหกรรม
5.2.2 คำขอที่มีเขตแต่งแร่ภายในสถานที่ซื้อแร่
5.3 เมื่อตรวจสอบแผนผังและกรรมวิธีแต่งแร่ ดำเนินการตาม 5.2 อุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ประจำท้องที่จะออกใบอนุญาตแต่งแร่ ดังนี้
5.3.1 ออกใบอนุญาตแต่งแร่โดยไม่ต้องขอรับความเห็นชอบจากอธิบดี ได้แก่ การขอแต่งแร่ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- (1) วิธีล้างแร่ด้วยน้ำ
- (2) วิธีย่อยแร่ บดแร่ และคัดขนาดแร่ที่ใช้สินแร่ไม่เกิน 25 เมตริกตันต่อวัน
- (3) วิธีคัดเลือกแร่ด้วยมือ
- (4) วิธีแยกแร่โดยอาศัยความแตกต่างระหว่างความถ่วงจำเพาะ
- (5) วิธีแยกแร่ด้วยแม่เหล็ก
- (6) วิธีแยกแร่ด้วยไฟฟ้าสถิตย์ หรือไฟฟ้าแรงสูง
5.3.2 ออกใบอนุญาตแต่งแร่โดยขอความเห็นชอบจากอธิบดีก่อน ได้แก่ การขอแต่งแร่ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- (1) การย่อยแร่ บดแร่ และคัดขนาดแร่ ที่เกิน 25 เมตริกตันต่อวัน
- (2) วิธีลอยแร่
- (3) วิธีการทางเคมี
- (4) วิธีอื่นที่อธิบดีเห็นชอบ
5.4 การออกใบอนุญาตแต่งแร่ตาม 5.3.1 และ 5.3.2 อุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะออกตามแบบแร่ 25
|