การวิเคราะห์ทองคำและเงินในโลหะทองคำผสมเงิน 
 คุณนุชนาท นาคำ 
 สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 

 ไฟล์เอกสาร>> Click ที่นี่
 บทคัดย่อ 
การจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ทองคำ คำนวณจากมูลค่าของทองคำและเงินในโลหะทองคำผสมเงินที่สกัดได้จากสินแร่ทองคำ ดังนั้นต้องตรวจวิเคราะห์ปริมาณทองคำและเงินในโลหะทองคำผสมเงินที่สกัดได้จากสินแร่ทองคำ การวิเคราะห์ใช้วิธี Cupellation ซึ่งถือเป็นวิธีมาตรฐานสากลที่มีความถูกต้องแม่นยำสูงสุด หลักการของวิธีคือห่อตัวอย่างด้วยแผ่นโลหะตะกั่ว หากตัวอย่างมีเงินน้อยให้เติมโลหะเงินมากกว่าทองคำอยู่ 2-6 เท่า นำก้อนตะกั่วไปหลอมในเบ้า cupel ที่อุณหภูมิ 950 องศาเซลเซียส ตัวอย่างและตะกั่วจะหลอมรวมกัน จากนั้นโลหะพื้นฐานต่างๆ ที่รวมอยู่ในตัวอย่างและตะกั่วจะถูกดูดซับด้วยเบ้า cupel เหลือแต่เม็ดโลหะมีค่า (dore bead) นำเม็ดโลหะนี้ไปทุบและรีดให้บาง แล้วนำไปสกัดเงินออกด้วยกรดไนทริก (parting) จนเหลือแต่แผ่นทองคำ คำนวณปริมาณทองคำจากน้ำหนักแผ่นทองคำ
จุดสำคัญของการวิเคราะห์อยู่ที่ ต้องทำตัวอย่างมาตรฐานที่มีส่วนผสมใกล้เคียงกับตัวอย่างทำควบคู่ไปด้วย แล้วคำนวณผลเปรียบเทียบ (proof correction) ทั้งนี้เนื่องจากในขณะหลอมละลายตัวอย่าง ทองคำและเงินมีการสูญหายไปบ้างบางส่วน จากปัจจัยหลายประการ เช่น ปริมาณตะกั่วที่ใช้ อุณหภูมิ การถูกดูดซับด้วยเบ้า cupel การระเหย อัตราส่วนของโลหะเงินและทองคำ ความเข้มข้นของกรดไนทริกที่ใช้ทำ parting และเวลาในการหลอมตัวอย่าง การวิเคราะห์ด้วยวิธีนี้ได้ผลวิเคราะห์ที่มีความเที่ยงค่อนข้างสูง ได้ค่าเปอร์เซ็นต์ของการเบี่ยงเบนสัมพัทธ์ (% RSD) ของการวิเคราะห์ทองคำและเงินมีค่าน้อยกว่า 0.50% (N = 3) ทั้งสองธาตุ เมื่อทองคำมีค่าอยู่ระหว่าง 18-35% และเงินมีค่าอยู่ระหว่าง 65-81% ผลวิเคราะห์ที่ได้ใช้ในการคำนวณค่าภาคหลวงแร่ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 ถึง 2547 รัฐจัดเก็บรายได้รวมเป็นเงิน 161.93 ล้านบาท 
......ผู้สนใจสามารถเปิดไฟล์เอกสารในรูปแบบของ .pdf ไฟล์ เพื่อศีกษาได้นะครับ......