แผนยุทธศาสตร์สู่ปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม 
 สำนักโลจิสติกส์อุตสาหกรรม 
 สำนักโลจิสติกส์อุตสาหกรรม 

 ไฟล์แผนยุทธศาสตร์สู่ปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสา>> Click ที่นี่
 แผนยุทธศาสตร์… 
สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2550-2554 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 โดยมีวิสัยทัศน์ คือ มีระบบโลจิสติกส์ที่ได้มาตรฐานสากล (World Class Logistics) เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าของภูมิภาคอินโดจีน และมีวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกกิจกรรมทางการค้า ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนโลจิสติกส์ (Cost Efficiency) เพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Responsiveness) และเพิ่มความปลอดภัยและความเชื่อถือได้ในกระบวนการนำส่งสินค้าและบริการ (Reliability and Security) 2) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมาย คือ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จากประมาณร้อยละ 19 ในปี 2548 ให้เหลือร้อยละ 16 ในปี 2554 โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่
1. การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในภาคการผลิต
(Business Logistics Improvement)
2. การเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งและโลจิสติกส์
(Transport and Logistics Network Optimization)
3. การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์
(Logistics Service Internationalization)
4. การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า
(Trade Facilitation Enhancement)
5. การพัฒนากำลังคนและกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
(Capacity Building)
ประเด็นยุทธศาสตร์การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในภาคการผลิตมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวดังนี้
1.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2550 เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการด้านอุตสาหกรรมของประเทศ เกิดความบูรณาการและสามารถผลักดันให้เกิดการปฏิบัติได้จริง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลัก มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้ประชุมครั้งแรกในการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน 2550 ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ กระทรวงอุตสาหกรรม
2.แต่งตั้งคณะทำงานแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม พร้อมทั้งผลักดันสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายดำริ สุโขธนัง) เป็นประธาน ได้ประชุมคณะทำงานแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ครั้งที่ 1/2551 เมื่อวันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ กระทรวงอุตสาหกรรม
แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมมีเป้าหมายในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จากประมาณร้อยละ 19 ในปี 2548 ให้เหลือร้อยละ 16 ในปี 2554 และกำหนดกรอบการพัฒนาแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่
1)การเชื่อมโยงระหว่างองค์กรตลอดโซ่อุปทาน เป็นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงถึงกันตลอดโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายเชื่อมโยงในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ พัฒนาระบบศูนย์กระจายสินค้าและการเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มอุตสาหกรรม พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ และความสามารถในการติดตามการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายสินค้า
2)การปรับปรุงประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภายในองค์กร เป็นการนำหลักการปฏิบัติที่ดี ที่ได้ศึกษาแล้วมาเป็นต้นแบบในการนำไปปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการภายในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม และจัดให้มีคลินิคให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญ
3)การพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ ความตระหนักด้านโลจิสติกส์แก่บุคลากรภาครัฐและเอกชน อบรมเชิงปฏิบัติการสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์จัดทำฐานข้อมูลเชิงเปรียบเทียบด้านโลจิสติกส์ของกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาด้านโลจิสติกส์
4) การสร้างปัจจัยเอื้อเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม เป็นการปรับปรุงกฎหมายและข้อกำหนดให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุง/ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกิจกรรมระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงาน เชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง และสถานประกอบการ เตรียมการเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและบริการภาครัฐ เพื่อการขนส่งเพื่อการนำเข้าและส่งออก และโลจิสติกส์ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม