โครงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ภายใต้โครงการ
“กลไกการพัฒนาที่สะอาด” และ“คาร์บอนเครดิต”
ของพิธีสารเกียวโต 
 นายจิตตพงค์ สระชิต 
 สำนักการอนุญาต 

 ไฟล์>> Click ที่นี่
 บทคัดย่อ 
ทรัพยากรแร่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์ได้นำแร่มาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบเบื้องต้นในการผลิต ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เครื่องประดับหรือวัตถุสำเร็จรูป ประดิษฐ์เครื่องจักรกล เครื่องมือทุนแรง และยวดยานพาหนะซึ่งเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต ตลอดรวมถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆด้วย วัตถุดิบที่มาจากแร่เหล่านี้ อาจเป็นวัตถุดิบที่ได้จากการทำเหมืองแร่โดยตรง หรือเป็นวัตถุดิบที่เกิดจากการนำมาใช้ใหม่ก็ได้ 
ผลของการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน พฤติกรรมการบริโภคและกระแสวัตถุนิยม ได้เพิ่มปริมาณมลพิษและของเสีย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้นและส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจึงเริ่มตื่นตัวอย่างจริงจังในการแก้ไขหรือบรรเทา “ภาวะเรือนกระจก” ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้มีการนำมาตรการกลไกต่างๆ มาใช้เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการแก้ปัญหาภาวะเรือนกระจก ได้แก่ “กลไกการพัฒนาที่สะอาด” (CDM-Clean Development Mechanism) 
ประเทศไทยเป็นภาคีในพิธีสารเกียวโตแต่สามารถที่จะเลือกตัดสินใจเข้ามีส่วนร่วมที่จะทำหรือไม่ทำโครงการ CDM เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มภาคี Annex I ที่จะต้องปฎิบัติตามพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น ผู้ประกอบการเหมืองแร่สามารถเลือกตัดสินใจเข้ามีส่วนร่วมที่จะทำหรือไม่ทำโครงการ CDM หากมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมพัฒนาโครงการ CDM ผู้ประกอบการเหมืองแร่ต้องศึกษาพิจารณาถึงปัญหาอุปสรรคในการที่จะเข้าร่วมโครงการและประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อนำมาใช้พิจารณาตัดสินใจในการเข้าร่วมโครงการ CDM