ต้นแบบการแยกสกัดโลหะทองแดงจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 
 นภาพร อรุณเกียรติก้อง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 

 ไฟล์คลิกเพื่อดาวน์โหลดไฟล์>> Click ที่นี่
ปัจจุบันกากอุตสาหกรรม นับวันจะมีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากการผลิตและการบริโภคขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานอุตสาหกรรม ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ปริมาณกากอุตสาหกรรม มากกว่า 3.5 แสนตันต่อปี จะนำไปบำบัดทั้งโดยการฝังกลบและกระบวนการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล (Recycle) ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะเศษทิ้งหรือของเสียอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดให้อยู่ในกลุ่มประเภทของเสียจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ (1) ชิ้นส่วนที่เป็นอันตรายที่ถอดแยกจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานแล้ว (2) อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานแล้วที่มีชิ้นส่วนอันตราย เช่น จอภาพ สวิทซ์บรรจุปรอท และ (3) ชิ้นส่วนที่ไม่เป็นอันตรายที่ถอดแยกจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานแล้ว โดยในปี 2550 มีปริมาณรวมกัน 35,000 ตัน ซึ่งมีมูลค่าสูง ควรที่จะมีการรีไซเคิลในประเทศแทนที่จะส่งออก หรือนำไปฝังกลบทิ้งปนไปกับขยะ
ของเสียจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยทั่วไปประกอบด้วยวัสดุหลัก 3 ประเภท ได้แก่ (1) โลหะ เช่น ทองคำ แพลทินัม ทองแดง อะลูมิเนียม เหล็ก ตะกั่ว ดีบุก สังกะสี และนิกเกิล (2) พลาสติก เช่น โพลีเอทธิลีน โพลีสไตรีน โพลีไวนิลคลอไรด์ เรซิน และยาง และ (3) แก้วและกระจก ซึ่งการรีไซเคิลวัสดุเหล่านี้ เบื้องต้นสามารถทำได้โดยเทคโนโลยีแต่งแร่พื้นฐาน แต่สำหรับกรณีรีไซเคิลโลหะแล้วจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีโลหะวิทยาในการแยกสกัด เช่น ชิ้นส่วนหรือแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board : PCB) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีโลหะประเภททองคำ เงิน และทองแดงเป็นองค์ประกอบ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะส่งออกต่างประเทศในรูปของแผงวงจรที่ยังไม่ผ่านการติดตั้งชิ้นส่วนไอซีหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ มาก่อน ซึ่งอาจเป็นส่วนที่มีข้อบกพร่อง (Defect) หรือส่วนเกินจากการผลิต ซึ่งประเภทนี้จะมีเพียงโลหะทองแดงเท่านั้นที่มีมูลค่าที่คุ้มค่าในการรีไซเคิล และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์อีกประเภทที่ส่งออก คือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดสภาพใช้งาน และผ่านการคัดแยกเบื้องต้นมาแล้ว ซึ่งประเภทที่สอง นอกจากทองแดงแล้ว ยังมีโลหะพื้นฐานอื่นๆ อีก เช่น โลหะมีค่าประเภททองคำและแพลทินัมจากโลหะบัดกรีหรือลวดเชื่อมประเภทที่ไม่มีสารตะกั่ว (Lead free solder (Sn+Ag)) แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 2 ประเภท ส่วนใหญ่ส่งออก เนื่องจากเทคโนโลยีการแยกโลหะทองแดงจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพยังไม่มีเผยแพร่ในประเทศไทยมาก่อน ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย มีเพียงโรงงานที่เป็นของต่างชาติดำเนินการคัดแยกเบื้องต้นเท่านั้น จากนั้นส่งไปเข้าโรงงานรีไซเคิลเพื่อแยกสกัดโลหะในประเทศตนเอง หรืออาจมีโรงงานรีไซเคิลแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยแต่ใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำ คือ การเผาให้เหลือแต่โลหะที่ต้องการ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายแต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตจากควันพิษและสารเคมี ดังนั้น หากมีต้นแบบการแยกโลหะทองแดงจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถนำไปตั้งโรงงานรีไซเคิลที่ไม่ต้องลงทุนมาก และได้ประสิทธิภาพสูง จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการรีไซเคิลขนาดเล็ก โดยเฉพาะรายใหม่ที่นำไปขยายผลในเชิงพาณิชย์