การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีศึกษา : อุตสาหกรรมเหล็ก และ อุตสาหกรรมตะกั่ว 
 นภาพร อรุณเกียรติก้อง 
 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 

 ไฟล์ดาวน์โหลด>> Click ที่นี่
 การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีศึกษา : อุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมตะกั่ว 
การพัฒนาประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกระบวนการผลิตต่างๆ ย่อมนำมาซึ่งผลผลิต ผลพลอยได้ และมลพิษที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งปัจจุบัน กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ถูกยกเป็นประเด็นด้านมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non tariff measures and Non tariff barriers to trade) รวมทั้งความตื่นตัวภาวะปัญหาโลกร้อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรการที่เป็นที่ยอมรับ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้เลือกอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมตะกั่ว เป็นกรณีศึกษา เนื่องจากทั้งสองอุตสาหกรรมจัดเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความสำคัญอีกมากมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กระป๋องบรรจุอาหารและผลไม้ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ และ การเติบโตของเศรษฐกิจไทย มีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนจากปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีการบริโภคเหล็กติดอันดับ 13 ของโลก และนำเข้าเหล็กเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา สำหรับอุตสาหกรรมตะกั่วมีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากโลหะตะกั่วเกือบทั้งหมดมีการใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ อย่างไรก็ตามตะกั่วจัดว่ามีความเป็นพิษต่ออาชีวอนามัยสูงกว่าโลหะชนิดอื่นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมเหล็กและ/หรือเหล็กกล้า จัดอยู่ในประเภทโครงการหรือกิจการ ประเภทที่ (5) ขนาดที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 100 ตันต่อวัน ขึ้นไป และอุตสาหกรรมผลิตตะกั่ว จัดอยู่ในประเภทโครงการหรือกิจการ ประเภทที่ (7) อุตสาหกรรมถลุงแร่ หรือหลอมโลหะซึ่งมิใช่อุตสาหกรรมเหล็กหรือเหล็กกล้า ขนาดที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 50 ตันต่อวัน ขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม