กระบวนการผลิตเหล็กขั้นต้นหรือกระบวนการถลุงแร่เหล็กเป็นกระบวนการในการ เปลี่ยนรูปแร่เหล็ก ซึ่งอยู่ในรูปของเหล็กออกไซด์ให้กลายเป็นโลหะเหล็ก รวมทั้งสารปลอมปนอื่น ๆ โดยใช้สารลดออกซิเจน เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน ในการกำจัดออกซิเจนและสารปลอมปนออกจากเหล็ก ซึ่งสามารถแบ่งกระบวนการถลุงแร่เหล็กออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ การถลุงเหล็กในสภาพ ของเหลวและการถลุงเหล็กในสภาพของแข็ง ซึ่งมีกระบวนการผลิตจากเทคโนโลยีต่าง ๆ แสดงใน แผนภาพที่ 1 ดังนี้
![](images/Home/IronMakingProcess.gif)
แผนภาพที่ 1 กระบวนการผลิตเหล็กขั้นต้นที่อาจได้จากการถลุงเหล็กในสภาพของแข็งและของเหลวจากเทคโนโลยีต่าง ๆ
การถลุงแร่เหล็กในสภาพของเหลว
เป็นกระบวนการกำจัดออกซิเจนออกจากแร่เหล็กพร้อมทั้งเปลี่ยนสภาพจากของแข็งเป็น ของเหลว เหล็กขั้นต้นที่ได้อยู่ในสภาพหลอมเหลวซึ่งสามารถนำไปใช้ต่อเนื่องในกระบวนการผลิตเหล็กกล้า (steel making) เช่น Blast Furnace-Basic Oxygen Furnace (BF-BOF), Corex Electric Arc Furnace (Corex -EAF) ได้ทันที ปัจจุบันการถลุงเหล็กในสภาพของเหลวที่พัฒนาในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ การถลุงแร่เหล็กด้วย Blast Furnace และการถลุงแร่เหล็กด้วยวิธี Direct smelting
![](images/Home/BlastFurnacee.gif)
กระบวนการถลุงแร่เหล็กด้วย Blast Furnacee
การถลุงแร่เหล็กด้วยวิธี Direct Smelting Reduction ปัญหาจากการถลุงแร่เหล็กด้วย Blast Furnace เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการผลิตถ่านโค๊ก และกระบวนการเตรียมแร่ก้อน ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบคุณภาพสูง อีกทั้งปัญหาเรื่องเงินลงทุนที่สูงมาก ดังนั้นมีการพัฒนาเทคโนโลยีการถลุงแร่เหล็กด้วยวิธี Direct Smelting Reduction เพื่อสามารถลดปัญหาเหล่านี้ เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนา ได้แก่ Corex และ HIsmelt
![](images/Home/Corex-3000.gif)
กระบวนการถลุงแร่เหล็กด้วย กระบวนการ Corex-3000
![](images/Home/HIsmelt.gif)
กระบวนการถลุงแร่เหล็กด้วย HIsmelt
การถลุงแร่เหล็กในสภาพของแข็ง (Direct Reduction)
เป็นเทคโนโลยีการถลุง ซึ่งผลผลิตที่ได้อยู่ในรูปของของแข็งหรือเรียกว่าเหล็กพรุน กากแร่ที่ติดปนมาไม่สามารถแยกออกได้ในกระบวนการถลุง และไม่สามารถเปลี่ยนเหล็กทั้งหมดให้เป็นโลหะได้ ทำให้ต้องสิ้นเปลืองพลังงานในขั้นตอนการผลิตเหล็กกล้ามากกว่าการใช้เศษเหล็ก การถลุงแร่เหล็กในสภาพของแข็งแบ่งเป็น 2 กระบวนการ คือ
- การถลุงแร่เหล็กด้วยแก๊สถลุงที่ได้มาจากแก๊สธรรมชาติ
- การถลุงแร่เหล็กด้วยแก๊สถลุงที่ได้มาจากถ่านหิน
การถลุงแร่เหล็กด้วยแก๊สถลุงที่ได้มาจากแก๊สธรรมชาติเป็นกระบวนการถลุงซึ่งผลิตแก๊สถลุงจากแก๊สธรรมชาติ เช่น แก๊สมีเทน (CH4) ถูกแปรสภาพด้วยเครื่องแปรสภาพแก๊ส (reformer) ให้เป็นแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และแก๊สไฮโดรเจน (H2) ซึ่งกระบวนการที่ใช้ในเชิงพาณิชย์มี 3 กระบวนการ คือ
- การถลุงแร่เหล็กด้วยเทคโนโลยี Midrex
- การถลุงแร่เหล็กด้วยเทคโนโลยี HyL III
- การถลุงแร่เหล็กด้วยเทคโนโลยี Finmet
กระบวนการ Midrex และ HyL เป็นกระบวนการที่คล้ายคลึงกัน คือ แร่เหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบอยู่ในรูปของแร่ก้อนหรือแร่เหล็กอัดก้อน ในขณะที่ Finmet ใช้แร่ละเอียด โดย reactor ที่ใช้ในกระบวนการ Midrex และ HyL เป็นแบบ moving bed ส่วน Finmet เป็นแบบ fluidized bed
![](images/Home/Midrex.gif)
ภาพการไหลขององค์ประกอบทางเคมีที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการ Midrex
การถลุงแร่เหล็กด้วยแก๊สถลุงที่ได้มาจากถ่านหินเป็นกระบวนการทางเลือกที่พัฒนาเพื่อแก้ปัญหาในประเทศที่แก๊สธรรมชาติมีราคาแพง โดยใช้ถ่านหินในการลดออกซิเจนในแร่เหล็ก ปัจจุบันสามารถแยกเป็นกระบวนการหลักได้ 2 กระบวนการดังนี้ คือ
- การถลุงแร่เหล็กด้วยเทคโนโลยี SL/RN เป็นกระบวนการที่ใช้หลักการเผาถ่านหินรวมกับแร่เหล็กในเตาเผาแบบนอนจนถ่านหินกลายเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งทำหน้าที่ลดออกซิเจนในแร่เหล็ก ปฎิกิริยาเป็นแบบ Diffusion Control อุณหภูมิของปฎิกิริยาประมาณ 900 - 1,100 องศาเซลเซียส เป็นกระบวนที่ไม่ยุ่งยาก การควบคุมปฎิกิริยาทำได้ยากเนื่องจากการแตกของตัวแร่เหล็กและถ่านหินทำให้การลดออกซิเจนไม่สม่ำเสมอ ผลิตภัณฑ์มีเปอร์เซ็นต์ metallization ต่ำแต่มีปริมาณ ซัลเฟอร์สูงซึ่งมาจากถ่านหิน
- การถลุงแร่เหล็กด้วยเทคโน RHF ปัจจุบันมีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์อยู่หลายเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ เช่น Fastmet Inmetco Redsmelt และ Iron Dynamicใช้หลักการในการอัดรวม แร่เหล็กละเอียดถ่านรวมกับแร่เหล็กละเอียดขนาดละเอียดกว่า 300 เมช ในรูปของ Green Pellet ทำการเผาที่อุณหภูมิสูงประมาณ 1,200 - 1,350 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดปฎิกิริยาแบบ Chemical Control จากการสัมผัสของแร่เหล็กและถ่านหิน กระบวนการที่เริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2543 กระบวนการ Iron Dynamic ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีซัลเฟอร์สูงและมีน้ำหนักเบา ถ่านหินต้องพิจารณาที่มีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำ ปัญหาน้ำหนักเบาสามารถแก้ได้สองวิธี คือ นำผลิตภัณฑ์ไปอัดให้มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น (Hot Briquetting Press) หรือ การนำไปหลอมด้วย Submerg Arc Furnace ผลผลิตที่ได้เป็นเหล็กหลอมเหลว
|