การศึกษาในโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการผลิตเหล็กขั้นต้นในประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินการด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานประกอบการพิจารณาเบื้องต้น โดยข้อมูลรายละเอียดของ แต่ละประเด็นที่ศึกษามีปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทั้งหมด ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้
- การประมาณความต้องการหรือแนวโน้มของความต้องการในอนาคตได้ศึกษาจากข้อมูล ผลการศึกษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในอดีต
- สถานภาพของอุตสาหกรรมเหล็กทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ตลอดจนอุปสงค์และอุปทานของผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปในประเทศไทย
ซึ่งปรากฏอยู่ในบทที่ 1 บทที่ 2 บทที่ 3 และเป้าประเด็นความต้องการผลิตภัณฑ์จากเหล็กขั้นต้นใน บทที่ 5
และจากการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวได้ประมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตเหล็กขั้นต้นในรูปของน้ำเหล็กเพื่อผลิตเหล็กแท่งแบน 1.968 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นเหล็กถลุงนั้นกำหนดเป็นสองกรณี คือ กรณีแรกหากเป็นไปตามเป้าหมายจะมีความต้องการ 1.978 ล้านต้นต่อปี และกรณีที่สองหากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมมีผลจะทำให้ความต้องการเหล็กถลุงเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.524 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะได้นำข้อมูลนี้เป็นตัวตั้งในการพิจารณาต่อไป
สำหรับการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตเหล็กขั้นต้น รายละเอียดของบทที่ 4 นั้น คณะผู้วิจัย ได้รวบรวมข้อมูลโดยตรงจากการเชิญบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลนำเสนอต่อ ที่ประชุมระดมสมอง ซึ่งมีผู้ประกอบการในประเทศเข้าร่วมรับฟัง ซักถามรายละเอียดด้วย
นอกจากนั้นข้อมูลอีกจำนวนหนึ่งได้จากการรวบรวมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องและในที่สุดคณะผู้วิจัยได้เสนอเทคโนโลยีที่น่าจะเหมาะสม มีความเป็นไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเป็นเทคโนโลยี ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์อยู่แล้วคือ กระบวนการแบบเตาถลุงพ่นลม หรือ blast furnace ที่อาจต้องพิจารณาพร้อมกับการตั้งโรงงาน sintering plant ไปด้วย กับกระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีของ Corex อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีใหม่ที่ดูมีความน่าสนใจและอาจเป็นทางเลือกในอนาคตที่ควรแก่การศึกษาเปรียบเทียบด้วยคือ HIsmelt ก็ได้นำเสนอไว้ด้วย
วัตถุดิบที่สำคัญสำหรับกระบวนการถลุงแร่เหล็กในการผลิตเหล็กขั้นต้น อันได้แก่ แร่เหล็ก และถ่านหิน ได้รวบรวมอยู่ในบทที่ 6 ซึ่งมีการประเมินทั้งปริมาณวัตถุดิบ ตลอดจนราคาจากประเทศหลักที่มีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์เพื่อการขนส่ง ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งคณะผู้วิจัยได้เดินทางไปศึกษาข้อมูลโดยตรงถึงพื้นที่ของแหล่งวัตถุดิบทั้งสามประเทศนั้น
การพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างโรงงานเหล็กขั้นต้น ได้พิจารณาปัจจัยประกอบกันทั้งด้านการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน สภาพสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังคำนึงถึงความ เป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติที่น่าจะมีโรงงานเหล็กขั้นกลางและขั้นปลายที่เชื่อมโยงกันได้สะดวกเมื่อเกิดความต่อเนื่องแบบครบวงจร ทั้งหมดนี้รวบรวมไว้ในบทที่ 7 บทที่ 8 และบทที่ 11 การศึกษาเริ่มต้นจากที่ตั้งโรงงานที่เป็นไปได้รวม 6 แห่งด้วยกัน และในที่สุดได้กลั่นกรองเหลือเพียง 2 แห่ง
ทั้งนี้ได้ผ่านการนำเสนอและสอบถามจากการประชุมระดมสมองที่มีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องด้วย คือ ศูนย์อุตสาหกรรมพีทีไอ จังหวัดระยอง ซึ่งมีความพร้อมด้านท่าเทียบเรือและโรงงานเหล็กหลายแห่งที่อยู่ใกล้เคียงกัน ในขณะที่สถานที่ตั้งอีกแห่งหนึ่งที่มีความเป็นไปได้คือ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่อาจต้องมีการเพิ่มเติมส่วนของท่าเทียบเรือขึ้นอีก ในขณะที่ผลพลอยได้ที่น่าสนใจคือสามารถสร้างโรงไฟฟ้าที่สะอาดขึ้นมาตอบสนองท้องถิ่น ซึ่งอาจเป็นผลดีกับปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าที่เรื้อรังกันอยู่
การวิเคราะห์ทางการเงินทั้งด้านงบประมาณการลงทุน การดำเนินงาน ผลตอบแทนการลงทุน ตลอดจนปัจจัยที่อาจมีผลกระทบกับการลงทุน เพื่อนำไปสู่การพิจารณาความเป็นไปได้ในการผลิตเหล็กขั้นต้นเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลทั้งหมดจากที่กล่าวมาข้างต้น โดยอาศัยผู้มีความชำนาญด้านการวิเคราะห์ทางการเงินคอยให้คำแนะนำและให้คำปรึกษา ผลการดำเนินงานอยู่ในเนื้อหาบทที่ 9 และบทที่ 10
ผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานราคาขายเหล็กแท่งไว้เพียง 190 เหรียญสหรัฐต่อตัน และราคาขายเหล็กถลุงไว้ 110 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งนับว่าเป็นราคาขายที่ค่อนข้างต่ำมาก เป็นการตั้งสมมติฐานที่ค่อนข้างระมัดระวังและน่าเชื่อได้ว่าราคาขายจริงไม่น่าลงไปต่ำกว่านี้อีกแล้ว ผลการวิเคราะห์ที่สรุปออกมาดูจากผลตอบแทนการลงทุนด้วยค่าของ IRR (International Rate of Return) แล้ว ถ้าคิดอัตราดอกเบี้ย 5 เปอร์เซ็นต์ ทางเลือกที่ผ่านเกณฑ์ยอมรับได้มีรวม 4 กรณี แต่ทุกรณีก็ยังปรากฏค่า IRR ค่อนข้างต่ำคือประมาณ 6.50 8.05 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง
ดังนั้นหากพิจารณาเฉพาะความคุ้มทุน เชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียวผลตอบแทนของการลงทุนตั้งโรงงานเหล็กขั้นต้นนี้ยังไม่เป็นที่น่าสนใจนัก
บทสรุปและเสนอแนะในบทที่ 12 จึงได้พยายามวิเคราะห์และชี้ให้เห็นว่า แม้ลำพังการ จัดตั้งโรงงานเหล็กขั้นต้นหากมองแต่ผลตอบแทนการลงทุนเป็นตัวเงินอย่างเดียว คงสรุปได้ไม่ยากนักว่ายังไม่น่าสนใจและคงยากที่จะมีผู้ยอมลงทุนด้วยเงินจำนวนมากนับหมื่นล้านบาทขึ้นไป
แต่ผลกระทบในเชิงบวกโดยอ้อมที่เกิดจากการที่มีการจัดตั้งโรงงานเหล็กขั้นต้นขึ้นภายในประเทศด้วยการพิจารณาให้ความสำคัญว่าเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญที่สามารถผลักดันและรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ออกไป เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ชิ้นส่วน ให้มีความพร้อมและขีดความสามารถเพิ่มขึ้นแล้ว ก็นับเป็นสิ่งที่ผู้บริหารประเทศในภาพรวมจำเป็นต้องเข้ามาให้การสนับสนุนร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อสร้างแรงจูงใจผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้น่าจะได้ใช้สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าเป็นกลไกสำคัญและประสานงานให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและปรากฏเป็น แผนงานระยะยาว เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม
|